John Deere RMA

โรคจุดสีน้ำตาลในใบข้าว กำจัดและป้องกันได้

รับมือ โรคจุดสีน้ำตาลในใบข้าว กำจัดและป้องกันได้

ในช่วงที่มีฝนตกชุก สภาพอากาศร้อนชื้น ประกอบกับการทำนาแบบต่อเนื่อง ไม่มีการพักดิน หรือไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน มักทำให้เกิดการระบาดของ โรคจุดสีน้ำตาลในใบข้าว (brown spot disease) ซึ่งนับว่าเป็นปัญหากวนใจของเกษตรกรชาวนา  เพราะสามารถแพร่ระบาด ได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้า ไปจนถึงระยะออกรวง หากไม่เร่งป้องกันหรือกำจัดทิ้ง ก็จะสร้างความเสียหาย ให้กับผลผลิตได้ในที่สุด

โรคใบจุดสีน้ำตาลเกิดจากอะไร?

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา ที่มีชื่อว่า Helminthosporium oryzae โดยเมล็ดสืบพันธุ์ของเชื้อรา จะปลิวไปได้กับลม เมื่อตกลงบนดอกข้าว หรือเมล็ดข้าวที่ยังไม่แก่ เมล็ดสืบพันธุ์ก็จะงอก และเข้าไปทำลายเมล็ดข้าว ทำให้เมล็ดข้าวเป็นรอยด่างดำ ทั้งยังสามารถเข้าทำลายแป้งของเมล็ดได้อีกด้วย

โดยเมล็ดข้าวที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย จะมีคุณภาพต่ำลง น้ำหนักเบา เปราะหักง่าย  ส่วนเชื้อราจะติดอยู่กับเมล็ดข้าว จนถึงเวลาตกกล้า เมื่อเอาเมล็ดที่มีเชื้อราไปตกกล้า เชื้อราก็จะเจริญเติบโต แล้วเข้าทำลายต้นกล้า ทำให้ใบของต้นกล้า มีจุดสีน้ำตาล คล้ายรูปไข่ ขนาดประมาณ 5 x 2 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ โรคใบจุดสีน้ำตาล ยังมีสาเหตุมาจาก การทำนาแบบต่อเนื่อง ไม่มีการพักดิน หรือไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ในดินลดลง รวมถึงการหว่านข้าวอย่างหนาแน่น ก็ยิ่งทำให้ข้าวอ่อนแอ ต่อโรคมากขึ้นนั่นเอง

การแพร่ระบาด

สปอร์ของเชื้อรา Helminthosporium oryzae ปลิวไปตามลม และติดไปกับเมล็ด ซึ่งสปอร์เชื้อราจะงอกที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส  โดยเฉพาะเมื่อข้าวเกิดความเครียดจากการขาดน้ำ และมีการติดเชื้อที่ความชื้น 90-100%

ระยะการเจริญเติบโต

เป็นตั้งแต่ระยะกล้า – ออกรวง

พบมากในพื้นที่ใด?

โรคใบจุดสีน้ำตาล สามารถพบได้มาก ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน นาน้ำฝน และ นาชลประทาน ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ สามารถติดเชื้อในต้นกล้า เกิดจากเมล็ดที่ติดเชื้อ และในระยะหลังแตกกอ

โรคใบจุดสีน้ำตาล ยังพบมากในดินที่ขาดธาตุอาหาร ซิลิคอน โพแทสเซียม แมงกานีส แมกนีเซียม และในสภาพที่ข้าวเมาตอซัง เป็นอาการของข้าว ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการย่อยสลายของฟาง หรือตอซังเก่าที่ยังไม่สมบูรณ์  จะเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ ข้าวเกิดอาการรากเน่าดำ ไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินได้ ต้นข้าวจึงแสดงอาการ ขาดธาตุอาหาร ทำให้ข้าวอ่อนแอ ต่อโรคใบจุดสีน้ำตาล

อาการของโรค

โรคใบจุดสีน้ำตาล พบมากในระยะแตกกอ มีอาการที่สามารถพบเห็นได้ชัดเจน คือบริเวณใบและกาบใบ จะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล รูปกลม หรือรูปไข่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 1 มิลลิเมตร ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง โดยในแผลที่ยังไม่เจริญเต็มที่ จะเป็นจุดขนาดเล็กกลม สีน้ำตาลเข้ม หรือเป็นจุดสีม่วงอมน้ำตาล กระจายทั่วบนใบ หากรุนแรงใบจะแห้ง ต้นกล้าจะแสดงอาการไหม้ ในแผลที่เจริญเต็มที่เป็นสีน้ำตาล กลางแผลสีเทาหรือขาว รวงข้าวที่เป็นโรคเมล็ด จะมีจุดสีน้ำตาล เกิดอาการด่างบนเมล็ด

แต่ในบางครั้ง แผลก็ไม่ได้เป็นรูปกลม หรือรูปไข่ แต่จะเป็นรอยเปื้อนคล้ายสนิม กระจัดกระจายทั่วใบข้าว จุดมีขนาดใหญ่ แต่ไม่เรียงเป็นเส้น มีลักษณะคล้ายโรคใบขีดสีน้ำตาล

โดยแผลยังสามารถ เกิดบนเมล็ดข้าวเปลือกได้อีกด้วย บางแผลมีขนาดเล็ก บางแผลอาจใหญ่ คลุมเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกสกปรก เสื่อมคุณภาพ ราคาต่ำเมื่อนำไปสีข้าวสารจะหักง่าย

การป้องกันและกำจัดโรคใบจุดสีน้ำตาล

  • ใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ เช่น ภาคกลางใช้พันธุ์ปทุมธานี 1 กข29 และ กข31  ,  ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์เหนียวสันป่าตอง กข33 และหางยี 71 ,   ภาคใต้ใช้พันธุ์แก่นจันทร์ ดอกพะยอม  เป็นต้น

  • ควรปรับปรุงดิน โดยการไถกลบฟาง หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดิน โดยการปลูกพืชปุ๋ยสด หรือปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค

  • ไถกลบและหมักตอซัง ย่อยสลายให้สมบูรณ์ ไม่รีบทำนา เพื่อไม่ให้ข้าว เกิดอาการเมาตอซัง

  • คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็บ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซ็บ อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

  • ใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

  • กำจัดวัชพืชในนา ทำแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม

  • ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป 10% ของพื้นที่ใบ ในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะที่ต้นข้าว ตั้งท้องใกล้ออกรวง เมื่อพบอาการ ใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธง ในสภาพฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกัน กำจัดเชื้อรา เช่น อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิม แมนโคเซ็บ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซ็บ ตามอัตราที่ระบุ

  • ทั้งนี้เมื่อใช้สารกำจัดศัตรูพืช ให้สวมชุดป้องกัน และปฏิบัติตามคำแนะนำ บนฉลากผลิตภัณฑ์เสมอ เช่น ปริมาณ ระยะเวลาในการใช้ และระยะเวลา ตั้งแต่ฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชครั้งสุดท้าย จนถึงวันเก็บเกี่ยว

  • เกษตรกรชาวนา ควรวางแผน การปลูกข้าวให้เหมาะสม กับปริมาณน้ำที่มีในพื้นที่และในแต่ละฤดูกาล เพราะหากไม่คำนึงถึงปริมาณน้ำที่มี จะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในการปลูกข้าว จนนำมาสู่การเกิดโรคระบาดในข้าวได้นั่นเอง

อ่านบทความสาระน่ารู้เกษตรเพิ่มเติมได้ที่นี่ : สาระน่ารู้เกษตร

ข้อมูลจาก :
– กรมส่งเสริมการเกษตร
– องค์ความรู้เรื่องข้าว  http://www.ricethailand.go.th 
– กรมการข้าว
– หนังสือ “ความรู้เรื่องข้าว” โดย ดร. ประพาส วีระแพทย์ สาขาคัดพันธุ์ต้านทานศัตรูข้าว กองการข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
https://www.icpladda.com 
https://plantwiseplusknowledgebank.org
https://plantpathology.hrdi.or.th