John Deere RMA

5 โรคพืชยอดฮิตช่วงหน้าฝน ปัญหากวนใจที่เกษตรกรต้องรับมือ

5 โรคพืชยอดฮิตช่วงหน้าฝน ปัญหากวนใจที่เกษตรกรต้องรับมือ

5 โรคพืชยอดฮิตช่วงหน้าฝน ปัญหากวนใจที่เกษตรกรต้องรับมือเข้าสู่ช่วงหน้าฝนแบบนี้ สิ่งที่เกษตรต้องรับมือกันทุกปีคงหนีไม่พ้น โรคพืชที่มาพร้อมกับสายฝนชุ่มฉ่ำ ปริมาณน้ำที่มากขึ้น และความชื้นในอากาศที่สูงขึ้น ทำให้พืชทั้งหลายมีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย และระบาดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือ ก็จะสามารถช่วยป้องกัน และบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้ ซึ่งเราก็มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันอีกเช่นเคย

 โรคพืชยอดฮิตช่วงหน้าฝน มีอะไรบ้าง?

1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)     

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Peronospona parasitica

ลักษณะอาการ : ราน้ำค้าง สามารถแสดงอาการได้ทุกระยะการเจริญของพืช ตั้งแต่เริ่มงอกจากเมล็ดจนกระทั่งต้นแก่ มักพบในพืชตระกูลแตง ตระกูลกะหล่ำ รวมถึงข้าวโพดฝักอ่อน โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พบบ่อยในช่วงที่มีอากาศชื้น เนื่องจากเชื้อราสาเหตุชนิดนี้ สามารถเจริญเติบโตและแพร่ระบาด ทำความเสียหายรุนแรง ในขณะที่อากาศมีความชื้นสูง อุณหภูมิต่ำระหว่าง 16 – 24 องศาเซลเซียส 

◾ในระยะกล้า ใบเลี้ยงเกิดเป็นจุดช้ำสีน้ำตาลหรือดำ ลำต้นเน่า ยุบตัว ทำให้พืชตายหรือแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต โดยอาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นที่ด้านใต้ใบ จะสังเกตเห็นกลุ่มผงสีขาวหรือเทาของสปอร์ และเส้นใยของเชื้อว่าเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ ต่อมาด้านหลังใบตรงที่เดียวกัน ก็จะเกิดแผลสีเหลือง ๆ เนื่องมาจากเซลล์ตายขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด เนื้อใบตรงที่เกิดแผลจะมีลักษณะบางและมีขอบเขตไม่แน่นอน แต่ค่อนข้างจะเป็นรูปเหลี่ยมในกรณีที่เป็นรุนแรง มีแผลเกิดจำนวนมากทั่วไป อาจทำให้ทั้งใบเหลืองและแห้งตาย สำหรับในใบอ่อนหรือใบเลี้ยง เมื่อเริ่มแผลสีเหลืองขึ้นที่ด้านหลังใบ ใบมักจะหลุดร่วงออกจากต้น ก่อนที่จะแสดงอาการมากกว่านี้ โรคในระยะกล้านี้มักจะรุนแรงทำให้ต้นโทรมอ่อนแอและอาจถึงตายได้

◾ในระยะต้นโตอาการระยะ แรกมักเกิดจุดสีเหลืองเป็นหย่อม ๆ หรือเป็นปื้นเหลืองด้านหน้าใบ มีเส้นใยสีขาวหรือเทาคล้ายปุยฝ้ายด้านหลังใบ แต่ในสภาพอากาศแห้งมักจะพบแต่อาการเหลืองซีดเท่านั้น เมื่อเกิดการระบาดรุนแรง แผลขยายขนาดใหญ่มากขึ้น เนื้อใบกลายเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล และแห้งตาย 

◾ในระยะสร้างดอก จะเกิดเป็นจุดดำเล็ก ๆ บนช่อดอก หากอาการรุนแรง ดอกอาจยืดหรือบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ในผักที่ใบห่อเป็นหัว เช่น กะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลี อาการบนใบที่ห่อจะมีลักษณะแตกต่างไปจากใบปกติที่คลี่ คือจะเกิดเป็นแผลจุดสีดำเป็นแอ่งจมลงไปในเนื้อใบขนาดต่าง ๆ กัน อาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ หรือโตขนาดเหรียญบาท เช่นเดียวกันกับจำนวนแผล อาจมีเพียงไม่กี่แผลหรือเกิดขึ้นเต็มทั้งหัว 

ส่วนในกะหล่ำดอกและบร๊อคโคลี่  นอกจากใบแล้ว เชื้ออาจเข้าทำลายส่วนของดอกหรือช่อดอก ทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลหรือดำขึ้นที่ส่วนผิวนอกสุดเป็นหย่อม ๆ หรืออาจลามคลุมหมดทั้งดอกหากเป็นมาก ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงของโรคขณะนั้น

การแพร่ระบาด : ราแพร่กระจายไปกับลม น้ำฝน หรือน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก อาการของโรคพบได้ทั่วไป สภาวะอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง หมอกหรือน้ำค้างลงจัด เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคและการระบาด เชื้อราอยู่ข้ามฤดูปลูกโดยสร้างสปอร์ผนังหนา ซึ่งติดอยู่ตามเศษซากพืช วัชพืชหรืออาศัยกับต้นที่งอกเองนอกฤดู และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ได้

วิธีการป้องกันกำจัด มีดังนี้

  • เลือกปลูกผักชนิดที่มีความต้านทานต่อโรค
  • ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 45-50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที ก่อนปลูก หรือคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล หรือ เมทาแลกซิล+แมนโคเซบ
  • ควรปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควร ไม่เบียดแน่นจนเกินไป
  • เก็บใบหรือส่วนที่เกิดโรค นำไปเผาทำลาย
  • ถ้ามีหมอกและน้ำค้างจัดในช่วงเช้า ควรพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ริโดมิลเอ็มแซด อาลิเอท ดาโคนิล หรือ วามีนเอส พ่นสลับกันเพื่อป้องกันเชื้อต้านทานสารเคมี อัตราส่วนตามคำแนะนำในฉลาก
  • หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต หากมีโรคเกิดขึ้นขณะปลูก ควรเก็บทำลายเศษซากพืชที่ตกหลงเหลืออยู่ตามดินให้หมด พร้อมกับต้นพืชที่งอกเองออกจากบริเวณแปลงปลูกให้หมด
  • ควรหลีกเลี่ยงการปลูกซ้ำในแปลงที่เคยมีการระบาด และควรปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้เวลาหมุนเวียนอย่างต่ำ 3 – 4 ปี
  • สามารถใช้สารเคมีต่อไปนี้ พ่นแปลงผักทุก 3 – 5 วัน เช่น มาเน็บ อัตรา 50 – 70 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฟอสฟอรัสแอซิด โปรไธโอคาร์บ ควรใช้เครื่องมือพ่นสารเคมีที่มีกำลังอัดหรือความดันสูง เพื่อให้ละอองสารเคมีที่ออกมาละเอียดมาก ๆ หากได้ในลักษณะที่เป็นหมอกควันก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้สารเคมีที่ใช้ ครอบคลุมจับทั่วทุกส่วนของต้นพืช และถ้าได้ผสมสารเคลือบใบลงไปด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของสารเคมีให้ดียิ่งขึ้น 
  • ในการพ่นควรกดหัวฉีดให้ต่ำขณะเดียวกันก็ให้หงายหัวฉีด สอดเข้าไปใต้ใบสลับไปด้วย เนื่องจากราน้ำค้างนั้น เมื่อเข้าทำลายแล้ว จะสร้างสปอร์เพื่อใช้ในการระบาดแพร่กระจาย อยู่ด้านใต้ของใบ สารเคมีที่ฉีดและจับอยู่เฉพาะด้านบนของใบ จึงไม่อาจทำลายหรือกันไม่ให้เชื้อระบาดได้

2. โรคเน่าคอดิน (Damping off)

เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Pythium sp. หรือ Phytophthora sp. 

ลักษณะอาการ : เกิดเฉพาะในแปลงต้นกล้า เนื่องจากการหว่านเมล็ดที่แน่น ต้นเบียดกัน ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคแล้ว ต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้าที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้ง ถ้าถูกแสงแดดทาให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว

อาการโรคเน่าคอดิน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ

◾ระยะก่อนงอกพันดิน ราจะเข้าทำลายเมล็ดหรือต้นกล้า ก่อนที่ต้นกล้าจะงอกขึ้นมาพันดิน ทำให้เมล็ดไม่งอกหรือรากต้นอ่อนถูกทำลายทันที ทำให้เมล็ดพันธุที่เพาะไปไม่มีใบเลี้ยงออกมา

◾ระยะต้นกล้า ราจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะราก ทำให้ต้นกล้าเหี่ยวทั้งต้นและหักล้ม ก่อนจะแสดงอาการเหี่ยวให้เห็น โดนส่วนที่ติดผิวดินจะเน่า ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของลำต้นจะยังมีความเต่อยู่ แต่ถ้าเชื้อราเข้ามาทำลายส่วนบนหรือส่วนของใบเลี้ยง จะพบก็ต่อเมื่อต้นกล้าหรือต้นอ่อนอยู่กันอย่างหนาแน่น ไม่มีพื้นที่หรือช่องว่าง หลังจากที่เกิดฝนตกลงมา

การแพร่ระบาด : เชื้อราสามารถติดมากับเมล็ด ดิน น้ำ วัสดุที่ใช้ปลูก รวมไปถึงสภาพแวดล้อม มักพบโรคได้บ่อยอยู่ในฤดูฝน และปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว เนื่องจากความชื้นในดิน ทำให้เชื้อสามารถขยายพันธุ์ได้ดีและเร็วขึ้น ดังนั้นจึงพบว่าโรคเน่าคอกินของต้นกล้า จะเกิดและทำความเสียหายมากเฉพาะในดินที่ชื้นแฉะ หากแสงแดดส่องไม่ถึงพื้นดิน ก็จะยิ่งส่งเสริมให้เชื้อราเพิ่มจำนวนและก่อให้เกิดโรคพืชได้ดียิ่งขึ้น 

วิธีการป้องกันกำจัด มีดังนี้

  • เตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำดี อย่าให้น้ำขัง หรือชื้นแฉะ 
  • ใช้เมล็ดพันธุ์ดีไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ติดมากับเมล็ด และมีความงอกสูง ไม่หว่านเมล็ดแน่นเกินไป 
  • ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ อัตรา 100 กรัม : เมล็ด 1 กิโลกรัม
  •  ใช้สารเคมีพ่นต้นกล้าระยะที่ปลูกใหม่ เช่น ziram, chloranil, captan soluble coppers ถ้าดินมีเชื้อมากและมีความชื้นสูง
  • ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา คลุกกับเมล็ดหรือดินหรือแช่เมล็ดและกิ่งพันธุ์ในอัตรา 200 ซีซีต่อน้ำในปริมาณ 20 ลิตรเป็นเวลา 2-10 ชั่วโมง หลังเพาะชำ พ่นในอัตรา 100 ซีซีต่อน้ำในปริมาณน้ำ 20 ลิตร และฉีดพ่นหลังปลูกให้ทั่วใบ กิ่ง ก้าน และโคนทุก 10 วัน เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืช
  • ตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบต้นกล้าที่เป็นโรค ควรเอาออกไปเผาทำลาย แล้วราดดินบริเวณนั้นด้วยสารเคมี เช่น เมทาแลกซิล 40กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าเป็นกับต้นที่โตแล้ว ต้องถากส่วนที่เป็นโรคออก แล้วทาด้วยสารเคมีดังกล่าว อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตรให้ทั่ว

3. โรคใบจุด (Alternaria leaf spot)

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Alternaria brassicae 

ลักษณะอาการ : อาการของโรคจะเกิดขึ้นได้ กับทุกส่วนของต้นผัก และทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ต้นอ่อนที่เริ่มงอกจากเมล็ด จนโตเป็นต้นแก่ ในต้นกล้าอาการขั้นแรก จะปรากฏให้เห็นโดยเกิดเป็นแผลเล็ก ๆ สีน้ำตาลหรือดำ บริเวณใบโคนต้น หรือลำต้น ต้นผักที่ถูกเชื้อเข้าทำลายตั้งแต่ระยะกล้า จะหยุดการเจริญเติบโตหรือชะงักงัน หากย้ายไปปลูกจะกลายเป็นพืซที่ไม่สมบูรณ์ เจริญเติบโตช้า ให้ผลไม่เต็มที่ ส่วนต้นที่โตแล้ว ใบจะมีแผลวงกลม สีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบ ๆ แผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีทั้งเล็กและใหญ่ บนแผลมักจะมีเชื้อราชั้นบาง ๆ เป็นผงสีดำ

การแพร่ระบาด : สปอร์ของเชื้อสาเหตุ สามารถปลิวไปตามน้ำ ลม แมลง สัตว์ เครื่องมือเกษตรกร มนุษย์ และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ได้ หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง สภาพอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะในฤดูฝน ที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ก็เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคอย่างยิ่ง

วิธีการป้องกันกำจัด มีดังนี้

  • เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค หรือนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำอุ่น 49-50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที
  • ทำลายต้นเป็นโรคโดยการขุดถอนไปเผาทิ้ง และกำจัดทำลายวัชพืชในแปลงปลูก
  • ไม่ควรให้น้ำแบบฉีดพ่นฝอย 
  • แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส 30 นาที (ยกเว้นกะหล่ำดอก) 
  • คลุกเมล็ดด้วยชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อราไตรโคเดอร์มา 
  • ฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อไตรโดเดอร์มา อัตรา 1 กก./น้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้นและใบ ทุกสัปดาห์
  •  พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมื่อพบโรค ได้แก่

แมนโคเซ็บ หรือ ไดเทนเอ็ม 45 ในอัตราส่วน 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

มาเน็บ ซีเน็บ และเฟอร์แบม ในอัตราส่วน 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ไอโพรไดโอน 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

ฟลูโอไพแรม+ ไตรฟลอกซี่สโตรบิน 10 มล./ น้ำ 20 ลิตร

4. โรคราสนิมขาว (White Rust)

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Albugo ipomoea-aquaticae Sawada 

ลักษณะอาการ : มักจะปรากฎให้เห็นบนใบอย่างชัดเจน โดยด้านบนของใบจะมีจุดสีเหลือง กระจายลุกลามจากกลางใบออกไปหาขอบใบ ด้านใต้ใบตรงกันข้าม จะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร อาจพบลักษณะปุ่มปม หรือบวมพองโตขึ้นในส่วนของก้านใบและลำต้น

การแพร่ระบาด : แพร่กระจายโดยการพัดพาของลม ตกบนใบพืช และจะงอกได้ภายในเวลา 2-3 ชม. ระบาดมากในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่แปลงปลูกมีความชื้น เมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้ง ความรุนแรงจะลดลง เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราจะงอกที่อุณหภูมิ ระหว่าง 4-24 องศาเซลเซียส และผิวใบจำเป็นต้องเปียกน้ำ มักแพร่ระบาดโดยต้นพันธุ์ที่เป็นโรค หรือส่วนของพืชที่มีเชื้อรานี้อยู่ สปอร์ราสนิมขาว สามารถมีชีวิตอยู่บนใบที่ร่วงจากต้นได้ เป็นเวลานานถึง 8 สัปดาห์

วิธีการป้องกันกำจัด มีดังนี้

  • ดูแลระบบการให้น้ำในแปลงปลูก อย่าให้ชื้นแฉะจนเกินไป
  • เลือกใช้เมล็ดจากแหล่งที่ไม่มีโรคระบาดมาก่อน คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารป้องกัน กำจัดโรคพืชเมทาแล็คซิล และให้พ่นใต้ใบเมื่อมีโรคระบาด ตามอัตราที่แนะนำบนฉลาก 
  • หากมีฝนตกชุก ให้ผสมสารจับใบ ดูแลระบบการให้น้ำในแปลงปลูก อย่าให้ชื้นแฉะจนเกินไป
  • กำจัดวัชพืชที่อาจเป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อนอกฤดูปลูก อย่าให้มีหลงเหลืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือใกล้เเปลงปลูก
  • ควรงดปลูกพืชชนิดเดียวกันในดินที่เคยปลูก และเคยมีโรคเกิดทำความเสียหายมาก่อน โดยหาพืชอื่นมาปลูกแทนอย่างน้อย 2-3 ปี
  • กรณีที่มีโรคเกิดขึ้นกับพืชในแปลง ให้ฉีดพ่นสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คลอรานิล (chloranil) 100 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร หรือ 1 ปี๊บ 2-3 วันต่อครั้ง มาเน็บ 48-72 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ ทุก ๆ 3-5 วัน 
  • สารเคมีที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ คูปราวิท ก็สามารถป้องกันและลดความเสียหายจากโรคนี้ได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือ ห้ามใช้กับต้นพืชอ่อนหรือกล้าที่เพิ่งย้ายปลูก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อใบ หรือทำให้ต้นเหี่ยวเฉาตายได้

5. โรคเหี่ยว (wilt) 

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Fusarium oxysporum 

ลักษณะอาการ :

มักเกิดในผักหลายชนิดและพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก พริกไทย กล้วย ขิง ถั่วลิสง และยาสูบ  ฯลฯ โดยจะเกิดอาการเหี่ยวอย่างช้า ๆ สังเกตได้ง่าย คือใบเริ่มเหลืองจากใบล่างขึ้นไป ใบและกิ่งก้านเริ่มเหี่ยว ใบร่วง เซลล์ตามขอบใบตาย ต้นตายในที่สุด ผลอาจเน่าและร่วง รากจะเจริญออกทางด้านข้างและเน่าในภายหลัง เมื่อถอนต้นดูรากจะขาดหลุดจากลำต้น เพราะผุเปื่อยเป็นสีน้ำตาล หากตัดลำต้นตามขวางจะเห็นวงแหวนสีนํ้าตาล ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อของกลุ่มท่อลำเลียงตาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

การแพร่ระบาด : การเกิดโรคนี้มักจะเกิดเป็นหย่อม ๆ หากสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงและดินมีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน การระบาดของโรคจะมีความรุนแรงและรวดเร็ว โดยเชื้อแบคทีเรียสามารถติดไปกับหัวพันธุ์ โดยแอบแฝงอยู่ในหัวพันธุ์และอยู่ข้ามฤดูได้ 

วิธีการป้องกันกำจัด มีดังนี้

  • ใช้เมล็ดและกล้าที่ปราศจากโรคปลูก การแช่นํ้าร้อนอาจได้ผลดีในการกำจัดเชื้อที่ติดมากับเมล็ด
  • ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ปลูก ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน 
  • ปรับระบบการใช้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไป 
  • ไถพลิกกลับดินตากแดดหลาย ๆ ครั้ง และเตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดี
  • ควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค
  • หมั่นตรวจและสังเกตแปลงปลูกเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดออกนำไปเผาทำลาย ขุดดินบริเวณรอบต้นนำไปฝังทำลาย โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดออก เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ในช่วงฝนหน้านี้ เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูก ควรต้องเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันโรคพืช โดยหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของโรคแต่เนิ่น ๆ ควรขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ก่อนที่จะเกิดการระบาดรุนแรง จนส่งผลเสียหายบานปลาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร, ไทยเกษตรศาสตร์ โรคของผัก, ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานเกษตรอำเภอสันทราย, Kaset Today