เมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่เกษตรกรจำเป็นต้องทำเป็นขั้นตอนถัดไปคือ การกำจัดซังข้าว ซึ่งการ ‘เผาซังข้าว’ กลับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูง แม้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่างกายของผู้สูดดมมากแค่ไหนก็ตาม เพราะการเผาสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอเวลา และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถกำจัดซังข้าวได้หมดในพริบตา แต่ถ้ากลับมาตระหนักได้กว่าปัญหา PM 2.5 ไม่ได้เกิดจากการเผา 100% ซึ่งสาเหตุการเกิด PM 2.5 มาจากได้หลายปัจจัย ได้แก่ ท่อไอเสียรถยนต์ มลพิษจากโรงงาน และการเผาในที่โล่งแจ้ง ฉะนั้นการเผาซังขาวจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทางทีมงาน จอห์น เดียร์ ขอร่วมรณรงค์การหยุดเผาซังข้าวและสนับสนุน วิธีกำจัดซังข้าว โดยธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร
PM 2.5 ถูกค้นพบในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2562 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเส้นผมของคน วัฏจักรของฝุ่นขนาดเล็กนี้จะเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นระยะ ในช่วงหน้าหนาวจะมีความกดอากาศที่ต่ำลงกว่าเดิมจึงทำให้สามารถทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย
ผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5
โดยปกติร่างกายเราจะมีขนจมูก เพื่อกรองสิ่งต่าง ๆ ที่กำกังจะเข้าไปในร่างกายขณะหายใจ แต่ด้วยขนาดฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถผ่านด่านขนจมูกลงไปยังปอดได้ง่ายดาย เมื่อสะสมเป็นเวลานานอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เช่น แสบจมูก มีเสมหะ หอบ หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ และโรคมะเร็งปอด ซึ่งวิธีป้องกันไม่ให้ฝุ่นละออง PM 2.5 เล็ดลอดเข้าร่างกาย คือ การใส่หน้ากากอนามัย N95 โดยไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ หมั่นเช็กสภาพฝุ่นในอากาศ ใช้เครื่องฟอกอากาศ และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้
- ดวงตาระคายเคืองจากการสัมผัสฝุ่นละอองโดยตรง
- ไอและเจ็บคอ โดยไม่ได้มีอาการป่วยอื่นแทรก
- เลือดกำเดาไหล เพราะจมูกอักเสบจากการสูดดม
- ปอดอักเสบและทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง
- ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง
วิธีกำจัดซังข้าวโดยไม่ต้องเผา
การปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรัง สามารถสร้างมลพิษ PM 2.5 ได้เกือบเท่ากันถ้าหากมีการเผาซังข้าวอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนมากเกษตรกรมักกำจัดซังข้าวด้วยวิธีเผามากที่สุด เพราะการเผาช่วยลดระยะเวลาในการกำจัดซังข้าวลงเพราะหลังการเก็บเกี่ยวข้าวก็เกิดฟางและตอซังเป็นจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันซังข้าวเป็นสิ่งที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ง่าย และมีประโยชน์มากมาย โดยซังข้าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่คิด
- สุดยอดสารอาหารชั้นยอดของสัตว์เคี้ยวเอื้อง วิธีกำจัดซังข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สำหรับการให้อาหารวัวและควายเป็นซังข้าว คือ การปล่อยให้วัวและควายได้เดินหากินในนาอย่างอิสระ โดยปล่อยในช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยว เพราะซังข้าวยังมีความเขียวชอุ่มและอมน้ำ หรือจะเกี่ยว แล้วนำมารวมเป็นกอง ๆ แต่ควรเก็บให้ห่างจากแสงแดดเพื่อรักษาความชื้น แต่ไม่ควรให้กินเยอะ เพราะซังสดอาจทำให้วัวและควายท้องอืดได้ ควรให้สลับกับหญ้าหรือฟางแห้ง
- สิ่งประดิษฐ์เชิงปัญญา ซังข้าวไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นปุ๋ยหรืออาหารเพียงเท่านั้น แต่ยังต่อยอดได้อีกมากมาย อย่างงาน ART AND CRAFT ที่สามารถสร้างรายได้ได้เป็นเท่าตัว ซึ่งสิ่งประดิษฐ์เชิงปัญญามีความหลากหลายทางด้านความคิด และการออกแบบ เช่น พวงกุญแจซังข้าวขนาดขนาดจิ๋ว หุ่นฟาง โต๊ะอัดจากฟางข้าว เป็นต้น
- ปุ๋ยหมักธรรมชาติ หรือปุ๋ยหมักชีวภาพจากซังข้าว สามารถหมักรวมกับเศษพืชอื่น ๆ ก็ได้ โดยส่วนมากปุ๋ยที่มาจากธรรมชาติจะเน้นส่วนผสมไปที่เศษซากพืชต่าง ๆ อาหาร เปลือกไข่ หรืออื่น ๆ ซึ่งสามารถนำส่วนผสมดังกล่าวมาผสมกับหัวเชื้อปุ๋ยหมักธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ประหยัดค่าปุ๋ยเคมี ดีต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค
- ปรับสมดุลในดิน คือ การไถเพื่อฝังกลบ วิธีการนี้จะช่วยให้ดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เพราะซังข้าวประกอบด้วยธาตุอาหารมากมาย เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม เป็นต้น และใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาติไม่นานนัก การไถกลบจึงเหมือนกับการปรุงดินเพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อปลูกครั้งถัดไปก็จะทำให้ผลผลิตงดงาม
- ฟางก้อน เกษตรกรสามารถสร้างรายได้อีกช่องทางหลังจากการเกี่ยวข้าว ซึ่งเจ้าฟางก้อนน้อย ๆ นี่แหละ สร้างเม็ดเงินเป็นทอด ๆ ไปโดยไม่ต้องเผา วิธีกำจัดซังข้าวด้วยการใช้แทรกเตอร์อัดบีบเป็นฟางก้อนโดยเฉพาะ แล้วตากแดดไว้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อไล่ความชื้นในฟางออก หลังจากนั้นให้นำฟางก้อนส่งขายต่อผู้รับซื้อได้เลย ส่วนมากมักนำฟางไปประกอบการทำเกษตรอื่น อาหารสัตว์ เพาะเห็ดฟาง หรือแม้แต่นำไปประดับ ซึ่งเราสามารถเห็นที่นั่งจากฟางก้อนตามร้านคาเฟ่ต่าง ๆ
- คลุมหรือห่มดิน วิธีการนี้จะทำให้ดินมีความชุ่มชื้น กักเก็บน้ำและสารอาหารให้อยู่ในผิวดิน และส่งผลให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง วิธีการห่มดินก็ง่ายดายเอาเสียมาก ๆ ทำได้โดยการตัดซังข้าวและตากให้แห้ง หลังจากนั้นให้นำซังข้าวปากแห้งมาเกลี่ยบริเวณโคนต้นกล้า
- ประกอบอาหาร อย่าเพิ่งตกใจไป! เราจะไม่นำซังข้าวมาบริโภคโดยตรง แต่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาหาร เช่น ไก่อบฟาง เนื้อหมักบาง ซึ่งฟางข้าวจะให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และทำให้อาหารนั้นมีความจุ๊ยซี่ฉ่ำ ๆ มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเมนูที่มีฟางข้าวเป็นส่วนในการประกอบอาหารแทบจะหาไม่ได้แล้ว เพราะเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น และมีการเผาซังข้าวมากกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก
- เยื่อกระดาษ ก่อนอื่นเลยต้องนำซังข้าวไปตากให้แห้ง แล้วนำมาเข้าเครื่องบดให้มีขนาดเล็กลง หลังจากนั้นนำไปแช่น้ำเป็นเวลา 1 คืน และนำไปต้มเป็นเวลา 6 – 8 ชั่วโมง โดยขั้นตอนสุดท้าย คือ การช้อนเยื่อกระดาษคล้ายกับการทำกระดาษสาที่เราคุ้นตานั่นเอง เป็นการต่อยอดขยะที่กำลังจะถูกเผา ด้วยวิธีการนำมาทำเป็นกระดาษ ซึ่งจะนำกระดาษนั้นไปทำเป็นอะไรก็ได้ โดยกระดาษจากซังข้าวจะให้สีน้ำตาลนวลสวยงาม น่าใช้สุด ๆ
ข้อเสียของการเผาซังข้าวซังข้าว
การเผาสามารถสร้างผลกระทบมากกว่าที่เราคิด และที่ร้ายแรงไปกว่านั้นสามารถส่งผลได้ในระยะยาว ทั้งในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลเสียในระยะยาวนั่นก็คือ การทำให้เกษตรกรเสียเงินซ้ำซ้อน เมื่อเผาซังข้าวจึงทำให้ดินแห้ง ไม่มีสารอาหาร เสียสมดุล และทำให้ต้นกล้ามีโอกาสติดโรคหรือเจริญเติบโตได้ไม่ดี สุดท้ายก็ต้องหันไปจ่ายเพิ่มเพื่อพึ่งสารเคมี
- การเผาทำให้ดินเสียน้ำและแร่ธาตุ หรือทำให้โครงสร้างของดินมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้นกล้าไม่แข็งแรง มีโอกาสติดโรคได้มากกว่าการปลูกจากดินปกติ ผิวดินจะมีความแห้งแตกและไม่มีความชุ่มชื้นอยู่เลย
- การเผาตอซัง ทำให้เกิดฝุ่นละอองและก๊าซพิษหลายชนิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มากไปกว่านั้นควันจากการเผาอาจทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่หรือการมองเห็นแย่ลงกว่าเดิมมาก และทำให้เกิดอาการแสบหู แสบตา แสบจมูกอย่างที่เคยเป็นกัน
- ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ภาวะเรือนกระจก แน่นอนว่าคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถลดได้หากยังมีการเผาอย่างต่อเนื่อง เพราะการเผาสามารถสร้างก๊าซพิษไปยังชั้นบรรยากาศได้โดยตรง ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เราจึงรู้สึกว่าทำไมเดี๋ยวนี้ร้อนกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก
ประโยชน์ของการไม่เผาตอซัง
การไม่เผาซังข้าวดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ คงสภาพแร่ธาตุและสารอาหาร มีความพร้อมสำหรับการปลูกครั้งต่อไปโดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการปรุงดินมากนะ ช่วยให้ประหยัดเวลาในกระบวนการเตรียมตัวก่อนปลูก
- การไถกลบตอซังข้าวจะทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดรายจ่ายให้กับเกษตรกร
- ทำให้ลักษณะทางกายภาพของดินมีความโปร่ง ร่วนซุย เป็นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกมาก โมเลกุลห่าง ไม่จับตัวกันเป็นก้อน ทำให้อากาศและน้ำสามารถระบายได้ดีมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มแร่ธาตุในดิน ซึ่งเป็นสารอาหารหลักและสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าได้
- รักษาความเป็นกรดด่างของดิน และช่วยลดอาการดินเค็ม ภายในดินอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
รู้หรือไม่? การเผาผิดกฎหมาย
การเผาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แน่นอนว่าประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นเมื่อเกิดการเผาในที่โล่งแจ้ง เจ้าพนักงานในท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้หยุดเผาได้ แต่ถ้ายังเกิดการฝ่าฝืนก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายกำหนด โดยจะมีข้อหา 2 กระทง ได้แก่ การเผาในที่โล่งแจ้งและการฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน
- การเผาในที่ของตนเองและที่สาธารณะ ต้องระวางโทษไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การเผาในพื้นที่ข้างทาง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- การเผาในพื้นที่ป่าไม้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าไฟจากการเผานั้นลุกลามเนื้อที่กว่า 25 ไร่ จะต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท
- การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม จนเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
ขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ข่าวกรมการข้าวจาก Thairath News , เทศบาลตำบลทับมา
อ่านบทความสาระน่ารู้เกษตรเพิ่มเติมได้ที่นี่ : สาระน่ารู้เกษตร