มันสำปะหลัง พืชหัว ปลูกง่าย ทนทุกสภาพอากาศ ราคามันสำปะหลังมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย) เป็นที่ต้องการของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวจึงเป็นที่ช่วงเวลาที่เกษตรกรรอคอยเป็นพิเศษ นอกจากสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีพแล้ว ยังทำให้เห็นผลผลิตมันสำปะหลังที่ลงทุนปลูกอีกด้วย และสามารถคันดสายพันธุ์ดีเพื่อการปลูกครั้งถัดไปให้สร้างผลผลิตดียิ่งขึ้น จอห์น เดียร์ มีเคล็ดไม่ลับ วิธีเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง และวิธีการเก็บรักษา มาฝากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมัน ไปดูกันเลย!
การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
มันสำปะหลังสามารถแปรรูปได้อย่างหลากหลาย ที่นิยมมากที่สุด คือ ประเภทมันเส้น มันแป้ง หรือมันอัดเม็ด และนำไปต่อยอดได้หลายอุตสาหกรรม ซึ่งต้นมันควรเก็บเกี่ยวช่วงระยะที่ 4 หรือช่วงอายุประมาณ 10 – 14 เดือน โดยทั่วไปแล้วเราจะแบ่งการเจริญเติบโตออกเป็น 5 ระยะ (ตั้งแต่ปลูกใหม่ – ฟื้นตัว) การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง จะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอนหลัก คือ การขุด การตัดเหง้า และการขนย้าย ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้ามาแบ่งเบาภาระเกษตรกรในการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังมากนัก ทำให้การเก็บเกี่ยวแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ใช้แรงงานคน และเครื่องจักร
- ใช้แรงงานทั้งหมด วิธีนี้ต้องมีจำนวนแรงงานเยอะพอสมควร จึงจะทำให้การเก็บเกี่ยวเสร็จทันภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีปัจจัยหลักเป็นความอ่อนของดิน ดินจะต้องสะสมความชื้นพอสมควร เพื่อให้แรงงานสามารถทำงานอย่างไม่มีอุปสรรค โดยเริ่มตั้งแต่ขุดหัวมัน ตัดเหง้า และบรรทุกขึ้นรถ ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานค่อนข้างเยอะ รวมถึงปัจจัยอื่นที่เข้ามามีบทบาทในการเก็บเกี่ยวแบบใช้แรงงาน 100% อีกด้วย
- ใช้แรงงาน 50% และเครื่องจักร 50% เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ลดต้นทุนในการจ้างแรงงานได้อยู่พอสมควร ช่วยลดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวให้สั้นลง ข้อดีอีกข้อ คือ วิธีเก็บเกี่ยวและเก็บรักษามันสำปะหลังแบบใช้แรงงานและเครื่องจักรผสมกัน สามารถช่วยให้เกษตรกเก็บผลผลิตได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งการทำงานอย่างเป็นระบบ สำหรับการเก็บเกี่ยวงานใหญ่ เช่น การขุดหัวมัน รวบรวมหัวมัน หรือการขนย้ายขึ้นรถบรรทุก ส่วนงานเก็บรายละเอียดเหมาะสำหรับการใช้แรงงานคน เช่น การตัดหัวมันออกจากเหง้า ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับลักษระการปลูกในช่วงแรก หรือปรับขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้ตามความเหมาะสม
- ใช้เครื่องจักรทั้งหมด ประหยัดเวลาในการเก็บเกี่ยวลงกว่าเท่าตัว แต่ต้องบริหารงานให้ดี เพราะอุปกรณ์ต่อพ่วงแค่ละขั้นตอนใช้ไม่เหมือนกัน โดยสามารถใช้เครื่องจักรหรือรถแทรกเตอร์ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการเก็บเกี่ยว แต่ในเรื่องของความละเอียดของผลผลิต คงเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับการเก็บเกี่ยวประเภทนี้ ถ้าในฤดูการเก็บเกี่ยวปีใดต้องอาศัยความรวมเร็วเป็นพิเศษ การใช้เครื่องทุนแรงแบบรถแทรกเตอร์ดูจะเหมาะสมเป็นอย่างมาก ช่วยเก็บผลผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น คุณภาพแป้งในหัวมันลดลงเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ท่านั้น
การตัดต้นพันธุ์
เป็นขั้นตอนแรกสำหรับฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องเลือกปรับตามความเหมาะสม กรณีที่ปลูกต้นมันถี่มาก จำเป็นต้องใช้แรงงงานคนในการตัดต้นพันธุ์ เพราะสามารถซอกแซกในพื้นที่แคบได้ดีกว่า การตัดต้นพันธุ์สามารถประหยัดเวลาในการปลูกครั้งถัดไป แต่ถ้าหากไม่มีความจำเป็นในการคัดต้นมันสำหรับการปลูกครั้งถัดไป เกษตรกรสามารถตัดและบดสับต้นมัน หลังจากนั้นคลุกหน้าดินเพื่อเปลี่ยนเศษที่ไม่ต้องการเป็นปุ๋ยอินทรี ขั้นตอนนี้เกษตรกรต้องเคลียร์พื้นที่ให้โล่งเตียน พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว เพื่อให้รถบรรทุกหรือรถแทรกเตอร์เขาไปทำงานโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
การตัดต้นพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความถนัดของเกษตรกร แต่หลักการสำคัญในการตัดต้นพันธุ์ คือ ดินจะต้องมีความร่วนซุย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงาน ปัจจุบันเกษตรกรไม่นิยมตัดต้นพันธุ์แบบกิ่งต่อกิ่ง เพราะทำให้เสียเวลาในการเก็บเกี่ยวเป็นอย่างมาก ต้นมันที่สามารถนำมาเป็นพันธุ์ได้ จะต้องมีลักษณะแข็งแรง ปลอดโรค ไร้แมลง เช่น
- เพลี้ยแป้ง ศัตรูพืชที่มักมาเยือนในช่วงฤดูแล้ง ถ้ามันสำปะหลังเป็นแล้วสามารถใช้ยาในการกำจัดได้ แต่ก็ควรจะรีบกำจัดโดยทันที เพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังต้นอื่น
- โรคใบด่าง เป็นโรคที่เมื่อพบเจอแล้วจะต้องรีบกำจัดต้นพันธุ์ทันที ยากต่อการรักษา ถ้าปลูกต่อไปผลผลิตอาจเสียหายเป็นจำนวนมาก
- โรคใบไหม้ สามารถพบได้ทุกที่ในประเทศไทย ทำให้ต้นมันมีอาการรากเน่าไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ลำต้นจะมีความฉ่ำน้ำมากกว่าปกติ เมื่อเจอควรรีบกำจัดทิ้งโดยทันที
เพื่อให้หัวมันมีประสิทธิภาพในการปลูกครั้งถัดไป เกษตรกรควรนำต้นมันที่ได้ตัดไว้ ไปแช่กับน้ำยากำจัดโรคหรือแมลง โดยสามารถเลือกแช่กับน้ำยาให้ตรงกับลักษณะพื้นที่ที่ปลูก และควรปลูกภายในระยะเวลา 15-30 วันหลังจากการตัดต้นพันธุ์ ซึ่งวิธีการตัดหัวมันที่นิยมมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่
- หลังจากที่ดินมีความร่วนซุย ให้เกษตรกรคัดเลือกท่อนพันธุ์ที่มีขนาดพอเหมาะ มีตาเพียงพอต่อการปลูกครั้งถัดไป และตัดท่อนพันธุ์ความยาวประมาณ 30 ถึง 45 เซนติเมตร ใส่รวมในภาชนะที่เปิดหัวท้าย หรือมัดรวมไว้เพื่อความเป็นระเบียบ และใช้เลื่อยไฟฟ้าชนิดมือถือตัดตกแต่งต้นพันธุ์ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ วิธีนี้จะสามารถร่นระยะเวลาในการตัดแต่งต้นพันธุ์ได้อย่างดี โดยสามารถตัดต้นพันธุ์นับร้อยได้ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที
- ตัดต้นพันธุ์ด้วยโต๊ะเลื่อยวงเดือน วิธีการนี้จะต้องใช้แรงงานในการรวบรวมต้นพันธุ์ที่ต้องการเสียก่อน หลังจากนั้นให้มัดรวมเป็นกอง จึงค่อยนำขึ้นมาตัดบนโต๊ะเลื่อย วิธีการนี้จะช่วยให้เกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ได้ละเอียดมากขึ้น และทำให้ได้ความยาวของต้นมันตามที่ต้องการ
- อีกวิธีหนึ่ง คือ การตัดต้นมันด้วยแรงงานคน และนำต้นไปเข้าร่ม ตัดปลายทิ้งเล็กน้อย และวางทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อให้สารอาหารยังคงสภาพอยู่ในลำต้น พร้อมสำหรับการปลูกในครั้งถัดไป ต่อมานำต้นมันมาตัดด้วยเครื่องตัดไฟเบอร์แบบฟันห่าง เพื่อเป็นการถนอมเนื้อไม้ไม่ให้แตก สามารถป้องกันการเกิดเชื้อราภายในอนาคตได้
การเก็บต้นมันจึงควรทำในช่วงที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งไม่มีฝน และควรตัดต้นที่กลางแจ้ง เพื่อกำจัดโรคและแมลงไปในตัว ไม่ควรปล่อยต้นมันไว้จนนานเกินไปหลังจากตัดแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอายิ่งปล่อยไว้นานโครงสร้างภายในยิ่งสูญเสียน้ำลง ทำให้อัตราการงอกเป็นไปได้ยาก และควรปลูกในช่วงฤดูแล้ง ต้นมันจึงจะเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
การขุดมันสำปะหลัง
ประเทศไทยมีวิธีเก็บเกี่ยวและเก็บรักษามันสำปะหลังอย่างเรียบง่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งการขุดมันเป็น 2 วิธี คือ ขุดด้วยแรงงานคน และขุดด้วยเครื่องจักร สามารถตัดต้นมันฃพันธุ์ดีใช้สำหรับการปลูกครั้งถัดไป วิธีการนี้จะช่วยทุ่นแรงและประหยัดเวลาสำหรับการเพาะเลี้ยงต้นใหม่ ซึ่งการขุดต้นมันขึ้นอยู่กับสภาพของดินที่ใช้ปลูก และสภาพอากาศขนาดนั้น เพราะความอ่อนนุ่มของดินเป็นปัจจัยหลักในการช่วยตัดสินใจว่าจะเก็บด้วยวิธีใดจึงรวดเร็วทันขาย
- ขุดมันสำปะหลังด้วยแรงงานคน กรณีนี้เหมาะสำหรับสภาพดินที่มีความร่วนซุย มีความชื้นพอสมควร จึงทำให้ผิวดินมีความอ่อนนุ่ม สามารถใช้มือขุดหรือดึงต้นมันขึ้นมาได้ โดยทำการตัดต้นมันให้เหลือส่วนล่างของลำต้นไว้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร
- ขุดมันสำปะหลังด้วยเครื่องจักร โดยทั่วไปแล้วมักใช้รถแทรกเตอร์พร้อมพ่วงอุปกรณ์สำหรับการขุดหรือพลิกหน้าดิน เพื่อให้อุปกรณ์ทุ่นแรงเหล่านั้นเข้าไปพลิกหน้าดินทำให้หัวมันหลุดออกจากดิน แต่ก็ยังคงต้องใช้แรงงานคนในการตัดหัวมันจะเหง้าอยู่ดี
ตัดหัวมันออกจากเหง้า
หลังจากขุดหัวมันเรียบร้อยแล้ว การตัดเหง้าก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่เกษตรกรจะต้องทำทุกครั้งในการเก็บเกี่ยว โดยเลือกตัดเฉพาะหัวมันออกจากเหง้า ปัจจุบันยังใช้เป็นแรงงานคนในการตัดเหง้าอยู่ เนื่องจากมีความรวดเร็วและแม่นยำสูง วิธีการตัดก็ง่ายดายมาก เพียงแค่หักหัวมันแยกออกจากเหง้า และรวบรวมหัวมันใส่ในกระสอบปุ๋ยเพื่อให้ง่ายต่อการขนย้าย ส่วนมากเกษตรกรมักนำหัวมันไปขายต่อโรงงานเพื่อผลิตเป็นแป้งในขั้นตอนถัดไป แต่ในทางกลับกันทุกครั้งหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยว เหง้าจะเป็นส่วนที่ไม่สามารถนำไปปลูกได้อีก หรือฝังกลบเพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพราะขนาดค่อนข้างใหญ่
- สร้างรายได้เสริมจากเหง้า : เปลี่ยนเหง้าขยะไร้ค่าให้เป็นเม็ดเงิน ด้วยการเผาเหง้าให้กลายเป็นถ่านเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีเตาเผาสำเร็จรูป ให้ผลผลิตในลักษณะถ่านเชื้อเพลิงเหง้า การเผาไหม้ด้วยเตาเผาจะทำให้สามารถกลั่นน้ำส้มควันไม้ ไว้ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกด้วย หรือจะเปลี่ยนเป็นการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งก็กำไรดีพอกัน เป็นการลดการสร้างขยะและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อีกด้วย
การขนส่งหัวมัน
เป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับช่วงระยะเวลาการเก็บเกี่ยว ตัวการขนย้ายสามารถเพิ่มตัวช่วยเป็นรถแทรกเตอร์เพื่อผ่อนแรง และลดระยะเวลาในการทำงานให้น้อยลง ไม่ควรเว้นระยะห่างจากการตัดหัวมันและขนส่งเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้มันเสื่อมสภาพลง หากทิ้งไว้นานก็จะทำให้มันเน่าขายไม่ได้ราคา โดยทั่วไปมันสำปะหลังไม่ควรทิ้งไว้เกิน 4 วันหลังจากเก็บเกี่ยว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีอัตราต่อกิโลที่แตกต่างกันไป รวมถึงราคามันแต่ละประเภท ก็แตกต่างเช่นกัน ในขั้นตอนการขนส่งหัวมันนี้ เกษตรกรต้องบริหารเวลาและเงินทุนให้ดี เพราะในการส่งแต่ละครั้งใช้เงินจำนวนมาก แต่ถ้าหากรอจนเก็บมันได้เต็มคันรถ คุณภาพของมันก็จะลดลง หากต้องการเร่งรัดในการขนส่ง เกษตรกรควรมีตัวช่วยระหว่างเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง อย่างรถแทรกเตอร์อเนกประสงค์ที่นิยมใช้กันทั่วไป
ไม่ควรเก็บมันสำปะหลังในช่วงไหน
แน่นอนว่าโครงสร้างของมันสำปะหลังประกอบไปด้วยน้ำและแป้ง ยิ่งเก็บในช่วงที่มีหน้าฝนหัวมันก็จะมีการสะสมน้ำมากกว่าแป้ง ทำให้แป้งในหัวมันมีเปอร์เซ็นต์ต่ำลง ขายไม่ค่อยได้ราคาเท่าไหร่ ที่สำคัญไม่ควรเก็บมันในช่วงที่มีอายุต่ำกว่า 10-12 เดือน เพราะหัวมันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แต่ก็ไม่ควรให้มันสำปะหลังมีอายุมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งลดลงอีกได้เหมือนกัน ฉะนั้นช่วงเวลาที่ควรเก็บมันสำปะหลังควรอยู่ที่อายุ 10-12 เดือน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพแป้งในหัวมัน
การปลูกมันสำปะหลังต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่วิธีเริ่มปลูกจนวิธีเก็บเกี่ยวและเก็บรักษามันสำปะหลัง ซึ่งเกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เพราะมันสำปะหลังค่อนข้างใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโต การดูแลเอาใจใส่ในกระบวนการก่อนเก็บเกี่ยวจึงสำคัญไม่แพ้กัน
- เตรียมดินให้พร้อม เพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ดินที่เตรียมไว้จะต้องมีอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุ ความร่วนซุย และความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดีในระดับหนึ่ง พร้อมปรุงดินอย่างน้อยก่อนเริ่มปลูก ด้วยวิธีการไถพรวนเป็นประจำ นอกจากจะได้ดินที่มีคุณภาพแล้ว ยังสามารถช่วยกำจัดวัชพืชไปในตัว
- คัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ แน่นอนว่าไม่สามารถเลือกพันได้ตามใจชอบ แต่ละสายพันธุ์ต่างก็เจริญเติบโตได้ดีในแต่ละพื้นที่อย่างแตกต่างกัน เกษตรกรต้องวิเคราะห์จากสภาพดินเป็นลำดับแรก
- คัดท่อนพันธุ์ เมื่อได้ข้อสรุปในการเลือกสายพันธุ์แล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการเตรียมท่อนพันธุ์ ส่วนมากนิยมใช้ในระดับความยาว 15 เซนติเมตร และมักแช่ท่อนพันธุ์กับอาหารเสริม ปุ๋ยฮอร์โมน หรือสมุนไพรเพื่อกันแมลงก่อนลงปลูกเสียก่อน การคัดมันนี้จะต้องเลือกพันธุ์ที่มีตาไม้สมบูรณ์ พร้อมแตกกิ่งแตกรากเมื่อลงดินไปแล้ว
- รักษาระยะห่างในการปลูก เพราะมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตชนิดหัว ควรเว้นระยะห่างตั้งแต่ 0.5 เมตรแต่ไม่ควรเกิน 1.20 เมตร เพื่อให้มันสําปะหลังได้โตอย่างเต็มที่ และดูดซึมอาหารจากดินที่ได้เตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า รวมถึงการใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืชอย่างเป็นระยะ ๆ
ในเก็บเกี่ยวและเก็บรักษามันสำปะหลังต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องรู้จักการบริหารการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีปัจจัยในเรื่องของเวลาเข้ามาท้าทาย ต้องเร่งมือในการขุดและการตัดเหง้าของหัวมัน เพื่อไม่ให้มันสูญเสียน้ำจนแห้งและหมดคุณภาพ ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเกษตรกรไม่เพียงพอ และสังคมมีความปัจเจกมากยิ่งขึ้น การเก็บเกี่ยวร่วมแบบสมัยก่อน จึงกลายเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เป็นเหตุผลที่เกษตรกรจึงหันมาใช้เครื่องจักรเพื่อทุ่นแรง อย่างแทรกเตอร์อเนกประสงค์ที่สามารถต่ออุปกรณ์พ่วงได้ ประหยัดแรงและเวลา คุณภาพของมันสำปะหลังไมค์ให้เสียหาย
อ่านบทความสาระน่ารู้เกษตรเพิ่มเติมได้ที่นี่ : สาระน่ารู้เกษตร