John Deere RMA

วิธีกำจัดหอยเชอรี่ ศัตรูนาข้าว ยังไงให้ได้ผล

วิธีกำจัดหอยเชอรี่ ศัตรูนาข้าว อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด

หอยเชอรี่  สัตว์น้ำจืดศัตรูหมายเลขหนึ่งสำหรับนาข้าว หอยเพียงไม่กี่ตัวสามารถวางไข่ได้หลายพันฟอง พร้อมสร้างกองทัพทำลายต้นกล้า เกษตรกรอาจเลือกกำจัดด้วยการใช้สารเคมี ทำให้สิ่งแวดล้อมโดยรอบได้รับผลกระทบ เป็นปัญหาหนักใจมาหลายปีและกำจัดไม่เคยหมดเลยสักครั้ง เพราะหอยเชอรี่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แล้วมี วิธีกำจัดหอยเชอรี่ แบบไหนบ้างล่ะ ทั้งแบบใช้สารเคมี และไม่ใช้สารเคมี ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง..ไขข้อข้องใจ หอยเชอรี่เกิดมาเป็นศัตรูพืชเพียงอย่างเดียวหรือ แท้จริงแล้วหอยเชอรี่สามารถรับประทานได้ อุดมไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเพียงพอต่อร่างกาย เป็นหอยที่มีทั้งประโยชน์และโทษภายในตัว

ถิ่นกำเนิดหอยเชอรี่

เดิมทีหอยเชอรี่เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความสวยงามในตู้ปลา เพราะรูปทรงแปลกของเปลือก สีสันสวยงาม มีประโยชน์สำหรับการกำจัดตะไคร่น้ำหรือเศษอาหารในตู้ปลา มีถิ่นกำเนิดจากแถบอเมริกาใต้ ไม่ได้มีแถบกำเนิดจากโซนบ้านเราอบ่างหอยชนิดอื่น หอยประเภทนี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และวางไข่จำนวนหลายพันฟองต่อครั้ง ทำให้ประชากรล้นเกินความต้องการ ตามนิสัยของคนไทยการฆ่าสัตว์ คือ การทำบาปชนิดหนึ่ง หอยเชอรี่จึงไม่ถูกทำลาย แต่ถูกนำไปปล่อยตามแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ ด้วยสัญชาตญาณที่ของการมีชีวิตรอด ทำให้หอยเชอรี่อัพยพไปตามพื้นที่ที่มีทั้งความชื้นและอาหาร

ทำไมหอยเชอรี่ถึงชอบอยู่ในนาข้าว

โดยปกติแล้วหอยเชอรี่ชอบกินพืชประเภทอ่อน ๆ เช่น คราบตะไคร่ แหน ผักบุ้ง สาหร่ายต่าง ๆ ยอดอ่อนพืชผักต่าง ๆ และที่มันโปรดปรานมากที่สุดเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ใช่ ‘ต้นกล้าข้าว’ นอกจากต้นอ่อนของข้าวเป็นอาหารอันโอชะของมันแล้ว สภาพอากาศและความชื้นตามไร่นาก็เป็นเหมือนบ้านที่อบอุ่นของมันด้วย ถึงแม้หน้าร้อนในไทยจะไม่ใช่เซฟโซนของมัน ความชื้นในผิวดินลดลงจบแทบไม่เหลือความชุ่มชื้นอะไรเลย แต่หอยเชอรี่ก็สามารถจำศีลใต้โคลนตามคันนาได้ นาข้าวจึงเป็นทั้งบ้านและหลุมหลบภัยของเหล่าหอยเชอรี่

การสืบพันธุ์ของหอยเชอรี่

เมื่อหอยมีอายุได้ประมาณ 3 เดือน ก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการผสมพันธุ์และวางไข่ หอยเชอรี่เพศผู้จะปล่อยเซลล์ไปในหอยเพศเมีย และใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็สามารถวางไข่ออกมาได้หลายพันฟอง โดยโครงสร้างในการสืบพันธุ์ไม่มีความซับซ้อนเท่าไหร่ มีอวัยวะหลัก คือ ท่อนำไข่และรังไข่ เมื่อผ่านกระบวนการผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ตัวเมียจะขึ้นมาวางไข่บนบก เป็นกลุ่มก้อนไข่หอยเชอรี่สีชมพูที่ทุกคนคุ้นตา ใช้เวลาฟักตัวเพียงประมาณ 1-2 อาทิตย์  หลังจากนั้นลูกหอยจะร่วงลงมาสู่พื้นดินและทำการหากินโดยตนเองต่อได้เลย ความน่ากลัวของหอยเชอรี่ คือ สามารถฟักไข่ได้ตลอดทั้งปี ส่วนในช่วงหน้าฝนสามารถวางไข่ได้บ่อยสูงสุด 15 ครั้งต่อเดือนเลยแหละ สรุปวงจรชีวิตหอยเชอรี่แบบม้วนเดียวจบ หอยเชอรี่จะใช้ระยะเวลาสำหรับการเจริญเติบโต 1-3 เดือนเพื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งไข่นับพันฟองก็จะใช้เวลาฟักเป็นตัวไม่เกิน 15 วันโดยประมาณ หลังจากนั้นหอยก็จะวนกลับไปสู่วัฏจักรการเจริญเติบโต 1-3 เดือนอีกครั้ง

วิธีป้องกัน และ วิธีกำจัดหอยเชอรี่

สำหรับเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกนาข้าวเป็นประจำ ควรจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการกำจัดให้น้อยที่สุด โดยสามารถเลือกวิธีป้องกันหอยตัวร้ายนี่ได้ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมปลูก หอยเชอรี่ก็มักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ ซึ่งในการเพาะปลูกทุกครั้งเกษตรกรจะต้องสูบน้ำจากลำห้วยต่าง ๆ เข้ามา แนะนำให้ป้องกันการบุกรุกตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการปลูก เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการกำจัดอย่างถูกวิธี

  • สูบน้ำเข้านาอย่างปลอดภัย : เครื่องสูบจะทำการสูบมวลน้ำอย่างมหาศาลเข้าสู่นา สัตวฺตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำอาจไม่สามารถว่ายหนีได้ทัน ทำให้ทุกครั้งที่มีการสูบน้ำจะมีการเล็ดลอดของหอยเชอรี่เข้ามา การแก้ไขก็ง่ายดายมาก ๆ ต้องไม่ลืมนำตาข่ายไนลอนปิดปากท่อเครื่องสูบน้ำทุกครั้ง วิธีนี้จะช่วยกรองสิ่งแปลกปลอมในน้ำได้อย่างเบื้องต้น 

  • สำรวจบริเวณโดยรอบ : อีกหนึ่งหน้าที่ที่เกษตรกรจำเป็นจะต้องทำคือ สำรวจตรวจตราว่าบริเวณนาข้าวมีไข่หอยเชอรี่หลงเหลืออยู่หรือไม่ หากพบว่ามีไข่หอยเชอรี่ให้รีบกำจัดเลยทันที ซึ่งวิธีการกำจัดก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน แต่ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าไข่หอยเชอรี่ได้ถูกทำลายทุกฟอง หากมีการฟักตัว ก็จะกลับไปสู่กระบวนการผสมพันธุ์และสร้างกองทัพหอยอีกครั้ง 

  • สร้างร่มเงาเพื่อหลอกล่อ : วิธีนี้คลาสสิคมาก แนะนำให้ทำช่วงวันที่อากาศร้อน แดดจัดเป็นพิเศษ ให้เกษตรกรนำใบตอง ใบมะละกอ หรือใบไม้ชนิดใดก็ได้ที่สามารถเป็นร่มเงาให้กับหอยเชอรี่ หอยจะหนีร้อนมาหลบอยู่ใต้ใบไม้ที่ล่อไว้ วิธีนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถจับของตัวเป็น ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาหาให้เปลือง 

  • หอย คือ อาหารโปรดของเป็ดและนกปากห่าง : วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับการทำนาข้าวในประเทศไทย เนื่องจากเกษตรกรบางคน ปลูกข้าวเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากเกษตรกรเลี้ยงเป็ดควบคู่กับการทำนาข้าว สามารถปล่อยให้เป็ดหรือนกปากห่างเข้ามาหาหอยกินได้ในขณะก่อนปลูกและหลังปลูกข้าว สัญชาตญาณของผู้ล่าจะทำให้เจอแหล่งอาหารโดยที่ไม่ต้องลงทุน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกำจัดลูกหอยจำนวนหนึ่ง 

  • นำท่อนไม้ไผ่มาปีกล่อ : กรณีที่กำจัดหอยได้ไม่หมดและเกิดการผสมพันธุ์ขึ้นอีกครั้ง โดยธรรมชาติหอยจะต้องขึ้นมาวางไข่บนท่อนไม้หรือตามคันนาต่าง ๆ หลังจากนั้นให้สังเกตเป็นประจำ ว่าพบกลุ่มไข่หอยเชอรี่หรือไม่ หากพบก็ให้รีบกำจัดทันที วิธีนี้จะสามารถกำจัดไข่ได้จำนวนหลายพันฟอง 

  • ไถกลบเตรียมหน้าดินทุกครั้ง : ห้ามองข้ามการไถกลบสำหรับการปลูกครั้งต่อไป นอกจากจะได้เตรียมหน้าดิน คลุกเคล้าหน้าดินกับอินทรีย์สารต่าง ๆ ให้เข้ากันแล้ว ผานบุกเบิกหรือผานพรวนดินยังช่วยสามารถทำลายหอยเชอรี่ได้อีกด้วย การใช้เครื่องมือเกษตรกรรมอย่างถูกต้องสามารถช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาได้อีกเยอะ 

  • ใช้ยาฆ่าหอย (สารเคมี) : วิธีนี้ไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ เพราะสารเคมีในการกำจัดหอยค่อนข้างรุนแรงและอันตราย ทำให้เกษตรกรหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่แถวนาข้าวได้รับผลกระทบ รวมไปถึงผู้บริโภคที่อาจได้รับสารเคมีโดยทางอ้อม โดยสารเคมีที่เกษตรกรนิยม ได้แก่ คอปเปอร์ซัลเฟต, นิโคลซาไมด์ และเมทัลดีไฮด์ ซึ่งจะต้องใช้ในอัตราส่วนที่พอดี 

    • คอปเปอร์ซัลเฟต ผสมน้ำในอัตรา 1 กิโลกรัม/ไร่ แล้วฉีดพ่น

    • นิโคลซาไมด์ ผสมน้ำในอัตรา 160 ซี.ซี/ไร่ แล้วฉีดพ่น

    • เมทิลดีไฮด์ อัตรา 0.5 กิโลกรัม/ไร่ ไม่ต้องผสมน้ำ หว่านลงพื้นที่ที่ต้องการ 

  • ภูมิปัญญาช่วยได้ : เราอาจจะมองข้าม วิธีกำจัดหอยเชอรี่ ด้วยวิธีธรรมชาติไป เพราะแท้จริงแล้วการใช้อินทรีย์สารในการกำจัดศัตรูเหล่านี้ ค่อนข้างใช้เวลาสำหรับการออกฤทธิ์แต่ละครั้งพอสมควร แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาน่าประทับใจและปลอดภัยต่อระบบนิเวศ 

    • กากชา : ใช้กากชาตากแห้งหว่านลงดิน แล้วใช้รถไถกลบเพื่อคลุกเคล้าให้เข้ากัน หว่านครั้งเดียวเพียงก่อนปลูกเท่านั้น

    • น้ำปูนแดง : ปูนแดงหรือปูนกินหมากมีฤทธิ์เป็นด่าง ใช้ผสมน้ำและฉีดลงให้ทั่วบริเวณ น้ำปูนที่ถูกผสมสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ มากไปกว่านั้นปูนแดงมีส่วนผสมมาจากขมิ้นที่มีฤทธิ์แสบร้อน

    • พืชสวนครัวบางชนิด : เช่น มะกรูด ใบขี้เหล็ก มันสำปะหลัง มะละกอ
      สามารถช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้เหมือนกัน ซึ่งอาจจะผ่านกระบวนการต้มกับน้ำ
      และนำไปผสมกับปูนที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ฉีดชโลมให้ทั่วคันนาหรือบริเวณโดยรอบ

โทษของหอยเชอรี่

‘กินจุ ขยายพันธุ์เร็ว ไข่เพียบ’ สิ่งที่เกษตรกรกลัวมากที่สุด คือ การที่หอยเชอรี่ได้บุกรุกเข้ามาทำลายต้นกล้าหมดทั้งไร่ เพราะอาหารโปรดของมันจำพวกพืชประเภทอ่อน ๆ ด้วยพลังการทำลายล้างสูง ทำให้พวกมันสามารถกัดกินต้นอ่อนได้หมดทั้งไร่ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หอยประเภทนี้ขยายพันธุ์ได้เร็ว และมีไข่จำนวนหลายพันฟองต่อการวางไข่ต่อครั้ง เปลือกหอยแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศร้อน และมีพิษอ่อนเพื่อป้องสัตว์อื่นที่เข้ามายุ่งย่าม เป็นศัตรูพืชที่ไม่มีอันตรายเท่าไหร่  นอกจากนำความเสียหายมาสู่ต้นกล้า ซึ่งระยะเวลาการเติบโตของข้าวที่ของเชอรี่ชอบมากที่สุด คือ กล้าข้าว และข้าวที่กำลังแตกกอ ทางที่ดีควรป้องกันตั้งแต่ระยะการตัวก่อนปลูก

หอยเชอรี่มีประโยชน์บ้างไหม

แน่นอนว่าหอยเชอรี่ถูกนำเข้ามาเพราะความสวยงามและการดักจับตะไคร่น้ำในตู้ปลา เสียอย่างเดียวขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วและไข่บ่อยครั้ง ทำให้ประชากรหอยล้นเกินความต้องการ แต่รู้หรือไม่ว่าหอยเชอรี่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ อุดุมไปด้วยสารอาหารมากมาก โปรตีนสูง เล่นไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นได้ทั้งอาหารคนและอาหาร แต่ทางที่ดีควรจะประกอบอาหารด้วยความรู้อย่างถูกต้อง หอยเชอรี่เป็นสัตว์ที่มีพิษไว้เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น และไม่ควรเก็บหอยบริเวณทุ่งนามาบริโภค เพราะอาจทำให้ได้รับสารพิษจากการกำจัดหอยนั่นเอง หากต้องการจะบริโภคหอยจริง ๆ ก็ควรเลือกซื้อจากแหล่งเพาะพันธุ์หอยสำหรับบริโภคเป็นอาหารเท่านั้น และทุกครั้งที่นำมาประกอบอาหารจะต้องมั่นใจว่าดึง ‘เส้นเมา’ ด้วยแล้วทุกครั้ง

    จากศัตรูพืชสู่วงการสร้างรายได้

    จากกระแสนิยมและความอร่อยที่เหมือนกับหอยโข่งเกือบทุกอย่าง เนื้อกรอบหวานกินง่าย จึงเป็นที่นิยมสำหรับบางกลุ่มคน วันเวลาเปลี่ยนไปก็ถูกพัฒนาเป็นธุรกิจฟาร์มหอยเชอรี่ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ หรือพ่อค้าแม่ค้าที่นำหอยเชอรี่ไปประกอบอาหาร วิธีการเลี้ยงหอยก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินความสามารถ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ก่อน ว่าชอบสภาพความเป็นอยู่แบบไหน กินอาหารแบบไหน วางไข่แบบไหน 

    • วางแผนสำหรับการทำฟาร์มหอยเชอรี่ : เกษตรกรควรศึกษาวิธีการเลี้ยงหอยให้ถูก รวมถึงปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อการขยายพันธุ์ร่วมด้วย 

    • คัดเลือกสายพันธุ์ : โดยทั่วไปหอยเชอรี่จะมีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ เปลือกสีเขียวปนดำเนื้อสีน้ำตาล และและเปลือกสีเหลือง ลำตัวสีเหลืองทอง โดยส่วนมากประเภทเปลือกสีเหลืองมักได้รับความนิยมมากกว่า เพราะเมื่อนำไปทำอาหารออกมาแล้วสีสันสดใส 

    • เตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะเลี้ยง : หอยเชอรี่เป็นสัตว์ที่อึด มักมีชีวิตรอดในเกือบทุกสภาพแวดล้อม แต่ต้องมีความชื้นและร่มเงาเอาไว้หลบแดด อาจจะเริ่มเลี้ยงจากบ่อปูน อ่างพลาสติกผสมปูน หรือขุดแหล่งน้ำขึ้นมาเอง แต่จะต้องรองด้วยพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้หอยหลบอยู่ในดิน 

    • เตรียมอาหารสำหรับหอยโดยเฉพาะ : อาหารโปรดของมันก็คือพืชประเภทอ่อน ๆ เช่น คะน้าเม็กซิโก  แหนแดง ผักตบชวา จอก ผักบุ้ง ผักกาดขาว หรือเป็นผักผลไม้ประเภทใดก็ได้ที่มีความอิ่มน้ำสูง เป็นสัตว์ที่กินง่าย อยู่ง่าย กินจุ ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเยอะสำหรับซื้ออาหารเพราะเลี้ยงหอยเชอรี่  

    • อย่าลืมเตรียมที่พักพิงสำหรับการวางไข่ : ธรรมชาติของหอยเพศเมียเมื่อถึงช่วงระยะเวลาที่ต้องวางไข่ หอยจะขึ้นมาวางไข่บนบกหรือบนพื้นที่สูง ฉะนั้นจะต้องจัดเตรียมแท่งไม้ไผ่ปักเตรียมไว้ เพื่อให้แม่หอยได้ขึ้นมาขายข้างบน 

    • เตรียมพื้นที่สำหรับอนุบาลไข่หอย : หลังจากที่หอยตัวแม่ได้ฝักไข่เป็นที่เรียบร้อย  เกษตรกรสามารถใช้เกรียงแซะออก แล้วย้ายไข่หอยเชอรี่มาไว้ยังบ่ออนุบาล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการดูแล เมื่อหอยโตจนขนาดพอใช้ได้ ก็สามารถใส่บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อทำการขายต่อได้เลย หรือจะเลี้ยงจนโตเต็มวัยเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์อีกครั้งก็ได้

    วิธีกำจัดหอยเชอรี่สามารถทำได้อย่างหลากหลายตามความต้องการ แต่แนะนำว่าไม่ควรใช้สารเคมีในการกำจัด เพราะสารเคมีอาจส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรอบ เกษตรกร รวมไปถึงผู้บริโภค หากหว่านโปรยเป็นจำนวนมาก ซึ่งวิธีที่ดูเหมือนจะมีประโยชน์สำหรับการทำนาข้าวมากที่สุด คือ การไถกลบหน้าดิน นอกจากจะได้ปรับสภาพและความสมดุลให้กับดินเพื่อเตรียมปลูกในครั้งต่อไปแล้ว ยังสามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้ไปในตัวอีกด้วย ในยุคที่ค่าครองชีพสูงการทำนาเพียงอย่างเดียว คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเกษตรกรบางกลุ่ม จึงมีอาชีพเกษตรทางเลือกมากมายเกิดขึ้นในปัจจุบัน การเลี้ยงหอยเชอรี่ไว้สำหรับบริโภคโดยเฉพาะ ต่างก็ได้รับกระแสนิยมมากอยู่เหมือนกัน เพราะหอยประเภทนี้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย ขยายพันธุ์ง่าย สามารถสร้างรายได้มากมายให้กับเจ้าของฟาร์ม