ชี้เป้า! วิธีปลูกและดูแลมันสำปะหลัง ตั้งแต่ต้นจนเก็บเกี่ยว
มันสําปะหลัง พืชหัวชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพเกษตรกรได้หลายครัวเรือน วิธีปลูกและดูแลมันสำปะหลังก็แสนง่ายดาย ต้นมันเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตได้ดีในสภาพดินในประเทศไทย จุดเด่นของมันสำปะหลัง คือ ทนทานต่ออากาศร้อน วิธีการปลูกง่าย ไม่ค่อยมีศัตรูพืชมารบกวน จึงเป็นที่นิยมในการปลูกในบางพื้นที่ ซึ่งสามารถต่อยอดจากหัวมันสำปะหลังได้อย่างมากมาย ทั้งเป็นอาหารทั้งคนและสัตว์ แปรรูปเป็นแป้งแต่ละชนิด หรือเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เราควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ตั้งแต่วิธีการเตรียมดินรวมไปถึงการดูแลรักษา ให้เราไปศึกษาวิธีการปลูกมันพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
มันสําปะหลังชอบดินชนิดไหน ?
โดยทั่วไปแล้วมันสำปะหลังสามารถเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ด้วยสภาพพื้นดินของประเทศไทยแล้ว ส่วนมากจึงมักมีการผสมปนเประหว่างดินร่วนและดินทราย ทำให้มันสำปะหลังในไทยนิยมปลูกในดินร่วน ดินร่วนปนทรายและดินทราย ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างก็มีวิธีปลูกและดูแลมันสำปะหลังค่อนข้างคล้ายกัน ต้องมีร่องดินสำหรับระบายน้ำไม่ให้น้ำขังตลอดเวลา เพราะมันเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย และความเป็นกรดด่างของดินต้องอยู่ที่ประมาณ 4.5 – 6.0 pH
ควรปลูกมันสําปะหลังช่วงไหนดี ?
อย่างที่รู้กันว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความต้องการน้ำต่ำมาก เกษตรกรจึงนิยมปลูกในช่วงฤดูฝน เพื่อลดการรดน้ำและให้ต้นมันซึมซับสารอาหารจากน้ำฝนที่ตกลงมา แต่ไม่ควรปลูกมันในช่วงที่ฝนตกหนัก ควรวิเคราะห์จากสภาพดินที่ปลูกร่วมด้วย เพราะถ้าหากปลูกมันในสภาพดินที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี ในช่วงฤดูฝนก็อาจจะทำให้รากเน่าหรือโรคอื่น ๆ ตามมา โดยนิยมปลูกในช่วงปริมาณน้ำฝนน้อย ประมาณเดือนตุลาคม – ธันวาคม และเดือนเมษายน – มิถุนายน
ขั้นตอนเตรียมดินสำหรับปลูก
พื้นฐานของการเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์พร้อมเป็นแหล่งอาหารให้กับพืช คือ การไถพลิกหน้าดิน ให้มีความร่วน สามารถระบายน้ำและอากาศได้อย่างดี เกษตรกรบางกลุ่มอาจจะทำการใส่ปุ๋ยจุลินทรีย์ในขณะที่ไถหน้าดินเพิ่มเติม เพื่อปรับความอุดมสมบูรณ์และค่าความเป็นกรดด่างของดิน วิธีปลูกและดูแลมันสำปะหลังที่ดีก็ควรเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินนี่แหละ หัวใจของการปลูกเลย
- เตรียมดินให้มีความชื้นและกำจัดวัชพืชด้วยการใส่กลบ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญมากซึ่งการไถกลบวัชพืชลงไปใต้ผิวดินนั้น สามารถเพิ่มธาตุอาหาร และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้อย่างดีทีเดียว ควรไขแบบห่างๆด้วยผาล 3 ก่อน แล้วปล่อยให้ดินรักษาสภาพประมาณ 7-14 วัน จึงไถแบบถี่เป็นครั้งที่ 2 ด้วยจานพรวน
- ขุดและยกร่องสำหรับการปลูกในช่วงหน้าฝน เกษตรกรควรขุดร่องน้ำไว้สำหรับการระบายน้ำและป้องกันน้ำขังบริเวณต้นมัน เมื่อเกิดฝนตกแล้วน้ำก็จะไหลไปยังร่องที่ได้ทำการขุดไว้ ทำให้ต้นมันสามารถดูดซับสารอาหารภายในดินได้อย่างเต็มที่ และเป็นประโยชน์ต่อการเก็บเกี่ยว
ปัญหาที่เกิดจากการเตรียมดินไม่ดี
แน่นอนว่าดินดี คือ พื้นฐานของผลิตผลที่ดี แต่ถ้าเราเตรียมดินไม่ดีจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร
- ฝนชะล้างหน้าดิน มันสำปะหลังเป็นพืชที่นิยมปลูกกันในช่วงต้นฝนหรือปลายฝน ซึ่งสภาพภูมิอากาศก็ไม่สามารถทำนายได้อย่างชัดเจน 100% ว่าช่วงนั้นฝนจะตกหนักหรือเบา การที่ฝนตกนั้นสามารถเข้าไปชะล้างหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ออกไป วิธีการแก้ไข คือ การขุดร่องน้ำที่มีระดับต่างกัน และการนำใบต้นมัน, ซากพืช หรือปลูกพืชคลุมดินไว้เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดิน
- ต้นมันแคระแกรนโตช้า เกิดจากการที่ภายในดินไม่มีธาตุอาหารเพียงพอ น้ำซึมลงไปใต้ผิวดินได้น้อยกว่าที่ควร กรณีนี้มักเกิดกับพื้นผิวที่ไถพรวนลึกไม่พอทำให้ผิวดินยังมีความแน่น หรือที่เรารู้จักกันในคำว่าดินดาน ทำให้น้ำและสารอาหารไม่สามารถซึมเข้าสู่ใต้ผิวดินได้ วิธีแก้ คือ ก่อนลงปลูกให้ไถพลิกหน้าดินลึกจนกว่าน้ำจะสามารถซึมเข้าสู่ใต้ผิวดินได้
- รากต้นมันขาดอากาศหายใจ เนื่องจากเกิดชั้นน้ำใต้ดินชั่วคราว ยังเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับดินดานเหมือนเดิม ซึ่งส่งผลให้การไหลซึมของน้ำเป็นไปได้อย่างยากลำบาก สามารถเพิ่มความอ่อนนุ่มให้กับดินดานได้ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ไถกลบเศษซากพืชลงไปในดิน เพื่อให้ดินมีแร่ธาตุ และมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
วิธีการเลือกพันธุ์ต้นมันสำปะหลัง
หลักการเลือกสายพันธุ์ของต้นมันให้ยึดตามสภาพดินแต่ละพื้นที่ในทำการเพาะปลูก ในไทยนิยมปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 4 สายพันธ์ ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72, พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50, พันธุ์ระยอง 90 และพันธุ์ห้วยบง 60
- ปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนทราย สำหรับสภาพดินนี้เป็นดินที่สามารถระบายน้ำได้ดีแต่อุ้มน้ำได้น้อย ทำให้มีปัญหาในเรื่องการกักเก็บแร่ธาตุภายในดิน เหมาะกับการปลูกต้นมันสายพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50, พันธุ์ระยอง 90 และพันธุ์ห้วยบง 60 เพราะมีความถึกทนเป็นพิเศษ
- ต้นมันพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 สามารถงอกได้ดีในทุกสภาพดิน ลำต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร เนื้อมันสีขาวนวล ปริมาณแป้งในหัวมันสูง
- ต้นมันพันธุ์ระยอง 90 ลำต้นสูงประมาณ 170 ซม. หัวมันเรียวยาวสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ดินทราย นิยมปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน แต่ไม่ค่อยมีความทนแรงเท่าไหร่
- ต้นมันพันธุ์ห้วยบง 60 สามารถให้ผลผลิตแป้งต่อหัวสูง ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้อย่างดี ลำต้นสูงประมาณ 180 ถึง 250 ซม. แต่ขนาดของหัวมันจะมีขนาดไม่ค่อยเท่ากันในบางต้น
- ปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนดินเหนียว เป็นสภาพดินที่ได้เปรียบใครเพื่อนที่สุด เหมาะต่อการปลูกพืชทุกชนิด ภายในดินจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่พืชต้องการอย่างครบถ้วน สามารถอุ้มน้ำได้มากและระบายน้ำได้เร็ว ต้นมันพันธุ์ระยอง 72 จึงเหมาะมากสำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ดินร่วนเหนียวนั่นเอง
- ต้นมันพันธุ์ระยอง 72 ความสูงของลำต้นประมาณ 200 ซม. มักเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี เมื่อปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถทนความแห้งแล้งได้อย่างดี แต่ถ้านำไปปลูกในสภาพดินที่ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์เท่าไหร่ (ดินเลว) อาจทำให้หัวมันมีความเป็นแป้งต่ำมาก
ปลูกมันควรเริ่มต้นอย่างไรดี ?
หลังจากที่ได้รู้จักกับวิธีเตรียมดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้นมันไม่ได้เริ่มปลูกตั้งแต่เป็นต้นกล้าต้นน้อยๆ โดยสามารถปลูกได้จากท่อนพันธุ์ ซึ่งท่อนพันธุ์ถ้าจะให้มีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ก็ต่อเมื่อทำการแช่ท่อนไว้กับเคมีเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ เพื่อสร้างความแข็งแรง ไม่ติดโรคง่าย ป้องกันแมลง และให้ท่อนพันธุ์นั้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงสามารถเจริญเติบโตด้วยตนเองได้ เกษตรกรควรแช่ท่อนพันธุ์ ประมาณ 5 – 10 นาทีก่อนลงดิน โดยตัดความยาวต่อท่อนอยู่ที่ 20 – 25 เซนติเมตร และจะต้องเป็นท่อนที่มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา
- ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร
- อมิดาโคลพริ 70% WG อัตรา 4 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร
- ไดไนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 4 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร
ให้เลือกสารเคมีดังกล่าวชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น และการแช่ก็ไม่ควรเกิน 80 ลิตร วิธีนี้จะช่วยทำให้ท่อนพันธุ์งอกเร็ว หัวมันมีขนาดสม่ำเสมอ และมีอัตรารอดมากขึ้น
วิธีปรับท่อนพันธุ์ลงดินอย่างไรให้รอด
จากวิธีปลูกและดูแลมันสำปะหลังข้างต้น เราจะเห็นความสำคัญของการขุดร่องน้ำมากขึ้น เพื่อป้องกันน้ำขังและรากเน่า โดยร่องน้ำควรมีความลึกประมาณ 5-15 ซม. สำหรับพื้นที่ในการปลูกขึ้นอยู่กับขนาดแต่ละพื้นที่และสภาพดินที่ลงปลูก และควรปลูกเป็นแนวยาวเพื่อความสะดวกสบายในการดูแลและเก็บเกี่ยว
- พื้นที่ที่มีความสมบูรณ์สูง หรือดินดี นิยมปลูกในระยะ 100 * 100 ซม. แต่ไม่ควรเกิน 120 * 120 ซม.
- พื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างน้อย มีความแห้งแล้งสูง สารอาหารต่ำ หรือดินเลว ควรปลูกในระยะถี่ขึ้นจากปกติ เช่น 100 * 80 ซม. หรือ 80 * 80 ซม. แต่ไม่ควรน้อยเกิน 60 * 60 ซม.
การดูแลต้นมันสำปะหลัง
หลังจากที่ได้นำท่อนพันธุ์ลงไปในดินเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนการดูแลมันสำปะหลังก็ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นหนึ่ง ถึงแม้ว่ามันสำปะหลังจะเลี้ยงง่าย โตไว ไม่ต้องรดน้ำบ่อย แต่ก็ยังต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีโรคและศัตรูพืชที่แวะมาสวัสดีได้ทุกเวลา
- ยาคุมวัชพืช : หลังจากที่ได้ลงท่อนพันธุ์แล้ว เกษตรกรควรฉีดยาไดยูรอน (คาแม็กซ์) ทันที ในอัตราส่วน 600 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร และไม่ควรฉีดพ่นหลังจากที่ต้นมันงอกแล้วเพราะจะทำให้เกิดความเสียหายได้
- กำจัดวัชพืช : วัชพืชไม่ใช่พืชคลุมดิน ไม่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต หน่ำซ้ำยังเข้าไปแย่งสารอาหารที่ต้นมันต้องการอีกด้วย โดยให้เกษตรกรทำการกำจัดวัชพืชทุก 1 เดือน สำหรับไร่เล็กๆ สามารถใช้แรงคนได้ แต่ถ้าเป็นได้ขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยแนะนำให้ใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กกับจานพรวนในการกำจัดวัชพืช
- การใส่ปุ๋ย : ปุ๋ยสูตร 15 – 7 – 18 หรือ 16 – 8 – 16 เป็นสูตรที่เหมาะสำหรับบำรุงต้นมันสำปะหลังโดยเฉพาะ โดยให้ใส่ห่างจากต้น 1 คืบ และควรใส่ปุ๋ยทุกๆ 1 หรือ 2 เดือน เป็นประจำ
- การรดน้ำ : มันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากสำหรับการเจริญเติบโต แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ต้องรดน้ำเลย วิธีการลดน้ำมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความสะดวกของเกษตรกร อาจจะรดผ่านสปริงเกอร์ หรือสร้างระบบหยดน้ำแทนก็ได้ เพื่อรักษาความชื้นในดินไม่ให้แห้งจนเกินไป
โรคที่มากับการปลูกต้นมัน
โรคเหล่านี้มักเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือปัจจัยการเจริญเติบโตไม่เพียงพอ ถ้าหากต้นมันมีอาการดังกล่าวก็ควรรีบรักษาโดยด่วน เพื่อลดอัตราการเสียหายจากโรคดังกล่าว และเป็นหน้าที่ของเกษตรกรจะต้องสำรวจต้นมันอย่างใกล้ชิด
- โรคใบด่าง : เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ สามารถสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 80 – 100% อาการ คือ ต้นมันสำปะหลังจะมีใบที่เป็นด่างสีเหลือง ลำต้นโตช้า แคระแกร็น ใบเสียรูป เมื่อพบเจอให้รีบทำลายต้นนั้นทิ้งทันที
- โรคพุ่มแจ้ : ลำต้นจะมีการแตกยอดมากกว่าปกติ และลักษณะการแตกยอดก็จะเป็นพุ่ม ๆ ขนาดใบเล็กลง ส่วนมากจะยืนต้นตาย แต่ถ้าต้นไหนรอดก็จะให้ผลผลิตต่ำมาก ๆ มีแมลงเป็นพาหะ เมื่อพบเจอควรเผาทำลายต้นที่ติดโรคพุ่มแจ้ทันที
- โรคใบไหม้ : ใบของต้นมันสำปะหลังจะมีจุดเหลี่ยม ๆ ขึ้นมา มีอาการใบเหี่ยว สามารถแพร่กระจายไปตามฝนและดินได้ ให้รีบเผาทำลายทัน และหมุนเวียนการปลูกเป็นพืชชนิดอื่นแทน ประมาณ 6 เดือน
- โรครากเน่า : มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีความชื้นสูง หรือในช่วงที่ฝนตกหนัก บริเวณโคนต้นจะมีเชื้อราสีขาวเกาะอยู่ ให้เกษตรกรรีบทำลายทันที และควรหว่านปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง
เก็บเกี่ยวอย่างไรให้กำไรงาม
หลังจากที่ได้ดูแลมันสำปะหลังมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อเริ่มเห็นต้นมันออกหัวที่ราก นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวเต็มที ซึ่งระยะเวลาแต่ละสายพันธุ์และพื้นที่ก็จะไม่ตายตัว ส่วนมากแล้วมักเก็บเกี่ยวต้นมันในช่วงระยะที่ 4 หรือประมาณ 10 – 18 เดือน เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์ความเป็นแป้งสูงที่สุด อย่างไรก็ตามเกษตรกรไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุกเพราะจะทำให้ปริมาณแป้งในหัวมันต่ำ สร้างผลได้น้อยลงตามมาด้วย
- ขั้นตอนที่ 1 การขุด : วิธีการขุดที่ถูกต้อง จะใช้แรงงานคนหรือรถแทรกเตอร์ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวก โดยจะต้องขุดมันสำปะหลังขึ้นมาจากดินทั้งลำต้น
- ขั้นตอนที่ 2 การตัดเหง้า : เลือกตัดเฉพาะส่วนที่เป็นเหง้าออก แล้วคัดแยกตามขนาดของหัว เพื่อนำไปขายต่อโรงงาน ในขั้นตอนนี้ต้องระวังไม่ให้เหง้าหรือดินปนไปกับหัวมัน และควรนำไปส่งทันทีไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน
- ขั้นตอนที่ 3 การขนย้าย : หลังจากที่ได้คัดแยกขนาดของหัวมันเรียบร้อยแล้วเกษตรกรต้องรีบขนหัวมันแต่ละขนาดขึ้นรถบรรทุก เพื่อส่งออกไปยังโรงงานหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่รับซื้อ หลังจากจัดการขนย้ายเรียบร้อย เกษตรกรต้องเก็บรักษาท่อนพันธุ์ไว้ในที่ร่ม แต่ไม่ควรเก็บเกิน 15-30 วัน
ขอบคุณข้อมูล : http://web.sut.ac.th/cassava/?name=14cas_plant&file=readknowledge&id=62