John Deere RMA

ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ใช้เอกสารอะไรบ้าง

เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

การ ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกรจะถูกนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิ์ เช่น การขอรับการสนับสนุน ความช่วยเหลือ หรือบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ

ข้อดีของการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

การขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและหน่วยงานที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนสามารถนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น

• วางแผนพัฒนาการทำเกษตรเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่และเพิ่มศักยภาพของเกษตรกร
• เป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การเยียวยาในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ • ช่วยให้การให้บริการและการสนับสนุนต่าง ๆ มีความรวดเร็วและตรงตามความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

วิธีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

วิธีที่ 1 : แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่
• สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม
1.1. แจ้งข้อมูลที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง
1.2. แจ้งผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมและร่วมเป็นหน่วยสนับสนุน ในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร
1.3. แจ้งข้อมูลผ่านผู้นำชุมชน ตัวแทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
สำหรับเกษตรกรรายใหม่ หรือรายเดิมที่เพิ่มแปลงใหม่
แจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงเกษตรอยู่

วิธีที่ 2 : ดำเนินการด้วยตนเอง
• สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม
2.1. ใช้แอปพลิเคชัน Facebook
สำหรับเกษตรกรรายใหม่ หรือรายเดิมที่เพิ่มแปลงใหม่
2.2 แจ้งข้อมูลผ่านระบบ e-Form ทางเว็บไซต์ efarmer.doae.go.th

หลักฐานที่ต้องใช้ (กรณีติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ)
1. บัตรประชาชน (ตัวจริง)
2. สำเนาหลักฐานถือครองที่ดิน
3. เกษตรกรรายใหม่ หรือรายเดิม แต่เพิ่มแปลงใหม่ ต้องนำหลักฐานการใช้ที่ดิน (ตัวจริงหรือสำเนา) มาแสดงด้วย

เงื่อนไขการปลูกพืชแต่ละชนิด ปลูกขั้นต่ำเท่าไหร่ถึงจะขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้

• ข้าว 1 ไร่
• พืชไร่ 1 ไร่ (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
• ผัก 1 งาน (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)
• ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น 1 ไร่ (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)
• ไม้ดอก 1 งาน (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)
• สมุนไพร 1 งาน (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)
• เพาะเห็ด ทำผักงอก เนื้อที่ 30 ตร.ม. (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)
• เพาะปลูกในโรงเรือน เนื้อที่ 72 ตร.ม.
• เกษตรผสมผสาน 1 ไร่ (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)
• นาเกลือ 1 ไร่
• แมลงเศรษฐกิจ 10-20 รัง (แล้วแต่ชนิดแมลง)
• สวนป่า 1 ไร่ จำนวน 100 ต้น (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)

ขั้นตอนหลังการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

• เมื่อเกษตรกรขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมีการติดประกาศข้อมูลในหมู่บ้านหรือชุมชนเป็นเวลา 3 วัน หรืออาจมีการจัดประชาคมเพิ่มเติมในหมู่บ้าน/ชุมชน
• เกษตรกรต้องตรวจสอบข้อมูลของตนเองในชุดประกาศ และเซ็นชื่อยืนยันความถูกต้อง
• หากเกษตรกรไม่ดำเนินการยืนยันข้อมูล จะถือว่าไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลในขั้นตอนนี้

วิธีการเปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกร

1. กรณีหัวหน้าครัวเรือนเกษตรเป็นผู้ดำเนินการเอง
• สมาชิกในครัวเรือนที่ต้องการเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรแทน ต้องลงชื่อในแบบคำร้องด้วย

2. กรณีสมาชิกในครัวเรือนเกษตรเป็นผู้ดำเนินการ
• สมาชิกที่จะเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรแทน ต้องยื่นแบบคำร้อง
• หัวหน้าครัวเรือนเกษตรเดิมต้องลงชื่อในแบบคำร้อง หรือแนบหนังสือยินยอม (ยกเว้นกรณีที่หัวหน้าครัวเรือนเกษตรเดิมเสียชีวิต เจ็บป่วยร้ายแรงติดเตียง ถูกคุมขังในเรือนจำ หรืออยู่ต่างประเทศ)
• สมาชิกในครัวเรือนเกษตรมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ต้องลงชื่อในแบบคำร้อง
• หากช่องลงชื่อในแบบคำร้องไม่เพียงพอ สามารถแนบหนังสือยินยอมจากสมาชิกในครัวเรือนเพิ่มเติมได้
• กรณีครัวเรือนมีสมาชิกเพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือยินยอม

3. สถานที่แจ้งเปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือนเกษตร
• ติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอที่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนครัวเรือนเกษตรไว้

สถานภาพของเกษตรกรจะสิ้นสุดลงในกรณีต่อไปนี้

1. เกษตรกรเสียชีวิต
2. เกษตรกรเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
3. มีการแจ้งเลิกประกอบอาชีพเกษตรกรรม
4. นายทะเบียนหรือผู้ช่วยนายทะเบียนสั่งจำหน่ายทะเบียนเกษตรกร เนื่องจากพบว่ามีการแจ้งข้อมูลเท็จในการขึ้นทะเบียน
5. ไม่มีการปรับปรุงสถานภาพติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ : กรมส่งเสริมการเกษตร
รายละเอียดอื่น ๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการเกษตร
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ : ข่าวสาร & โปรโมชั่น