ข้าวโพดหวาน ผลผลิตทางเกษตร ได้รับความนิยมในการบริโภคมากในตอนนี้ ด้วยรสชาติที่หวานมัน มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความหลากหลายในการแปรรูปและการเลี้ยงดูที่ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรจึงหันมาปลูกข้าวโพดหวานกันมากขึ้น โดยส่วนมากพื้นที่ที่นิยมปลูกข้าวโพดหวานจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เนื่องจากดินที่ใช้ปลูกอยู่กันคนละพื้นที่ ซึ่งเกษตรกรมักปลูกข้าวโพดหวานในช่วงฤดูฝน โดยนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนมีนาคมตลอดการเก็บเกี่ยว อนาคตคาดว่า ข้าวโพดหวานจะกลายเป็นพืชที่มีความต้องการของท้องตลาด ด้วยสรรพคุณและรสชาติที่หลากหลาย ข้าวโพดหวานจึงเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ แต่ วิธีปลูกข้าวโพดหวาน อย่างถูกต้องเป็นอย่างไรนั้น เรามีเคล็ดลับที่ดีมาฝากพี่น้องเกษตรกรค่ะ
เลือกสายพันธุ์
ข้าวโพดหวานแบ่งสายพันธุ์เป็น 2 ประเภท เนื่องจากลักษณะการเติบโตค่อนข้างแตกต่างกัน ใช้ระยะเวลาเติบโตไม่เท่ากัน ให้ความหวานในอัตราที่องศาบริกซ์ (หน่วยวัดความหวาน) ใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับการวางแผนและความต้องการของเกษตรกร ว่าต้องการปลูกพันธุ์ไหนมากกว่ากัน โดยข้าวโพดทั้ง 2 ประเภทนี้ ต้องการปัจจัยในการเจริญเติบโตคล้ายกัน
- พันธุ์ผสมเปิด : ลักษณะทางการเกษตรไม่แน่นอน แต่สามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ต่อได้ ควรปลูกให้ห่างจากข้าวโพดหวานสายพันธุ์อื่น เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ซุปเปอร์ฮาร์โก้ พันธุ์ซุปเปอร์สวิท
- พันธุ์ลูกผสม : เป็นที่นิยมมากกว่าพันธุ์ผสมเปิด เนื่องจากมีลักษณะทางการเกษตรที่ค่อนข้างแน่นอน ให้ผลผลิในเวลาใกล้เคียงกันทุกต้น แต่ไม่สามารถนำไปขยายพันธ์ุต่อไปได้ ทั่วไปแล้วพันธุ์ลูกผสมจะแบ่งย่อยไปอีก 2 ประเภท ได้แก่
- พันธุ์ที่ควบคุมความหวานด้วยยีนชรังเค่น (Shrunken) : ให้ความหวานสูง เมื่อต้มแล้วจะมีซูโครสอยู่ในเม็ดข้าวโพดประมาณ 30% เช่น ชูการ์73, อินทรี2, หรือไฮ-บริกซ์10
- พันธุ์ที่ควบคุมความหวานด้วยยีนบริทเทิ่ล (Brittle) : เมล็ดข้าวโพดสีเหลือง สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ประมาณ 18 – 20 วันหลังออกฟัก เช่น ชูการ์74
เลือกสภาพแวดล้อม
ขั้นตอนที่เกษตรกรควรเตรียมตัวเป็นขั้นตอนแรก คือ การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม คุณภาพดิน รวมไปถึงองค์ประกอบรอบข้างที่สามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้า เพราะตลอดการเติบโตต้นกล้าจำเป็นต้องใช้สารอาหารและสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ดินที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี จะทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตงอกงามตามไปด้วย
- ดิน : บ้านและสารอาหารหลักของข้าวโพดหวาน ที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ปลูกนี้จนกว่าจะถึงฤดูการเก็บเกี่ยว โดยดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตมากที่สุด คือ ดินร่วน ระบายน้ำได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องเป็นดินร่วน 100% สามารถผสมกับดินอื่นได้เล็กน้อย เช่น ดินทราย หรือดินเหนียว ในอัตราส่วนที่ดินอื่นไม่มากกว่าดินร่วน เพราะต้องอาศัยความสามารถในการระบายน้ำได้ดีจากดินร่วน และปรับความเป็นกรดด่างให้เหาะสมต่อการเจริญเติบโต
- น้ำ : ข้าวโพดหวานเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีรสชาติหวาน ฉ่ำน้ำ มีเปอร์เซ็นต์ความเป็นแป้งอยู่บ้าง จึงมีความต้องการน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลาในปริมาณที่พอดี สามารถปลูกได้ทุกฤดู หากปลูกในช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรควรจัดเตรียมบ่อน้ำ เครื่องสูบน้ำ หรือเลือกพื้นที่ปลูกใกล้กับคลองชลประทาน เพื่อป้องกันปัญหาต้นข้าวโพดไม่โตจากการขาดน้ำ แต่ถ้าหากเลือกปลูกในช่วงฤดูฝนก็ควรยกร่องเพื่อป้องกันปัญหาน้ำขัง
- อากาศ : ข้าวโพดหวานเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อน โดยอุณหภูมิตั้งแต่ 20 – 35 องศาเซลเซียส สภาพอากาศมีอิทธิพลต่อการกระจากตัวของเกสรตัวผู้ หากปลูกในช่วงหน้าฝนก็จะทำให้ข้าวโพดมีความชื้นสูง ความสามารถในการกระจายเกษตรได้น้อยลง ส่งผลให้ดอกไม่ได้รับการผสมพันธุ์ จึงไม่เกิดเป็นฝักข้าวโพด ดังนั้นวิธีปลูกข้าวโพดหวานในช่วงหน้าแล้ง จึงสามารถสร้างผลผลิตได้ดีกว่าช่วงหน้าฝน แต่ต้องระวังปัญหาแดดเผาไหม้ เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรจึงได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดหวานแซมไม้ยืนต้นได้ เพื่ออาศัยร่มเงาในการเจริญเติบโต
การเตรียมดิน
เนื่องจากข้าวโพดหวานเป็นพืชทางการเกษตรที่เติบโตได้ง่าย ต้องการปัจจัยหลักอย่างพอดี เช่น น้ำ แสงแดด อุณหภูมิ สารอาหาร และสภาพดิน ก่อนปลูกเกษตรกรจะต้องเตรียมดินสำหรับข้าวโพด โดยเริ่มจากการกำจัดวัชพืชและเคลียร์หน้าดินให้เรียบร้อย รวมไปถึงการปรุงดินด้วยอินทรีย์สารให้ดีมีความอุดมสมบูรณ์ภายในตัว และช่วยป้องกันการเกิดโรคและแมลงบางชนิด
- ไถและตากหน้าดินเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ไถเพิ่มเพื่อทำการปรับหน้าดินให้เสมอกัน ควรเก็บเศษซากต่าง ๆ ออกจากแปลงปลูกทั้งหมด
- ตรวจสภาพความเป็นกรดและด่างของดิน เนื่องจากต้นข้าวโพดจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีค่า pH อยู่ที่ 5.5 – 6.5 หากพบว่าดินที่กำลังจะปลูกมีค่าเป็นด่างหรือกรดจะมากเกินไปให้ปรุงดินจนกว่าจะมีค่า pH ที่พอดี
- เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอกหรืออินทรีย์วัตถุ
วิธีปลูกข้าวโพดหวาน
ข้าวโพดหวานเป็นพืชที่ปลูกง่ายที่สุด และให้ผลผลิตค่อนข้างไว อีกทั้งยังดูแลง่ายหลังจากปลูกแล้ว ตามที่เราเน้นย้ำกัน คือ ดินจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์มาก และการรดน้ำอย่างถูกวิธี จะทำให้ข้าวโพดมีอัตราการติดดอกสูง สามารถสร้างผลผลิตให้กับเกษตรกรได้อย่างดีทีเดียว ซึ่งทั่วไปแล้วก็มักจะขายต่อโรงงานอุตสาหกรรม หรือแปรรูปเป็นอาหารในลักษณะต่าง ๆ แต่ปลูกอย่างไรให้เมล็ดมีความแข็งแรง ไปดูกันเลย
- คลุกเมล็ดพันธุ์กับสารป้องกันและกำจัดโรคพืช ด้วยเมตาเเลกซิน ในอัตราส่วน 7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เพื่อเพื่อป้องกันการเกิดโรคของพืช เช่น โรครากเน่า โรคโคนเน่า โรคราน้ำค้าง
- ขุดหลุม ความลึกประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 20 – 25 เซนติเมตร และมีระยะห่างจากแถวประมาณ 70 – 75 เซนติเมตร เมื่อโตขึ้นต้นข้าวโพดหวานจะได้ไม่เบียดกัน
การรดน้ำข้าวโพดหวาน
ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ข้าวโพดจะเจริญเติบโตได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการรดน้ำ ซึ่งโดยส่วนมากการรดน้ำที่ได้รับความนิยม คือ การเปิด Sprinkler ให้ความชุ่มชื้นทั่วแปลง กับอีกหนึ่งวิธีคือ การขุดคูน้ำ และปล่อยน้ำให้ซึมไปในดินทีละช้า ๆ อย่างที่รู้กันว่าน้ำมีผลต่อการเจริญเติบโต เกษตรกรต้องสังเกตอาการของข้าวโพดหวานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ข้าวโพดหวานไม่หยุดชะงักการเจริญเติบโต
- การรดน้ำข้าวโพดขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในช่วงนั้น ถ้าปลูกในช่วงหน้าฝนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านน้ำอยู่แล้ว ก็ควรเว้นการรดน้ำเป็น 12 วันต่อครั้ง แต่ถ้าปลูกข้าวโพดในช่วงฤดูแล้ง ก็ควรรดน้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ต้นข้าวโพดขาดน้ำจนเกินไป และควรรดทันทีหลังปลูกและหลังจากการใส่ปุ๋ยในทุก ๆ ครั้ง
- รดน้ำในปริมาณที่พอดี เพราะถ้ารดมากเกินไปอาจจะทำให้ต้นข้าวโพดรากเน่า หรืออาจทำให้ความหวานลดลงได้
การใส่ปุ๋ยข้าวโพดหวาน
การใส่ปุ๋ยเป็นการเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงเป็นการปรุงดินให้เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ในทางที่ดี วิธีการปลูกข้าวโพดหวานควรใส่ปุ๋ยชนิดอินทรีย์สารเพิ่มด้วย เพราะอินทรีย์วัตถุสามารถเพิ่มความสามารถให้กับดินและพืช ต่างจากปุ๋ยเคมีที่ส่งผลกับพืชเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปแล้วการใส่ปุ๋ยมักจะโรยที่ข้าง ๆ ต้นข้าวโพดแล้วพรวนกลบ โดยแบ่งวิธีการใส่ปุ๋ยเป็น 3 ช่วง คือ
- ครั้งที่ 1 : 14 วันหลังปลูก โดยดินร่วนปนทราย ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ดินเหนียวใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่
- ครั้งที่ 2 : เมื่อต้นข้าวโพดอายุ 25 – 30 วัน ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตรา 25-30 กิโลกรัม/ไร่ หากสภาพดินทรายให้เพิ่มสูตร 21-0-0 เป็น 80 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยยูเรียเป็น 44 กิโลกรัม/ไร่
- ครั้งที่ 3 : เมื่อต้นข้าวโพดอายุ 40-45วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร และอัตราเดียวกันกับครั้งที่ 2
วิธีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช
ต้องยอมรับเลยว่า 2 สิ่งนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่บางครั้งก็ควบคุมได้ แต่บางครั้งก็ควบคุมไม่ได้ ฉะนั้นต้องหมั่นสำรวจร่องแปลง รวมถึงการสังเกตอาการต่าง ๆ ของข้าวโพดหวาน เช่น ต้นเล็กแคระ ใบเหลือง ใบม้วนเข้า หรือติดดอกช้า เพราะอาการเหล่านั้นอาจมาจากปัจจัยภายนอกอย่างวัชพืชและศัตรูพืช ที่เข้ามาแย่งสารอาหารในการเจริญเติบโต
1.การกำจัดวัชพืช :
- วิธีที่ 1 ดายหญ้า และ การพรวนดินพูนโคน ด้วยการถากด้วยจอบอุปกรณ์ชนิดอื่น ที่สามารถทำให้วัชพืชหลุดจากดิน หลังจากนั้น ทำการพูนโคนต้นด้วยจอบ จากดินบริเวณร่องแปลงให้สูงขึ้น นิยมทำหลังจากต้นข้าวโพดหวานงอกแล้ว 3-4 สัปดาห์
- วิธีที่ 2 ใช้สารเคมี ฉีดพ่นลงไปในดิน ก่อนเตรียมดิน หรือ หลังการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อป้องกันวัชพืชเจริญเติบโต ไม่ควรใช้ก่อนข้าวโพดออกดอก โดยมีสูตรเคมีสำหรับกำจัดวัชพืชของข้าวโพดหวานโดยเฉพาะ คือ
- ไกลโฟเสท (48% เอสแอล)
- อัตราส่วน 120 – 160 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
- ฉีดพ่นสำหรับกำจัดวัชพืชก่อนการเตรียมดินประมาณ 7-15 วัน
- อะลาคลอร์ (48% อีซี)
- อัตราส่วน 125 – 150 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
- ควรฉีดพ่นหลังหยอดเมล็ดข้าวโพดหวานไปแล้ว
2.การกำจัดศัตรูพืช :
ด้วยความหวานและฉ่ำน้ำ จึงทำให้ข้าวโพดหวานกลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าศัตรูพืชด้วย ซึ่งศัตรูพืชที่มักเจอมากที่สุด คือ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้หอม และเพลี้ยอ่อนข้าวโพด หากปล่อยไว้อาจสร้างความเสียหายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถใช้สารเคมี ฉีดพ่นบริเวณที่ถูกทำลาย หรือ ตลอดทั้งลำต้นก็ได้ ทั้งนี้ ในการใช้สารเคมีฉีดพ่นควรใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 5 – 14 วัน
การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน
หลังจากสิ้นสุดวิธีปลูกข้าวโพดหวานมาสักระยะจนทำให้ข้าวโพดสามารถสร้างผลผลิตได้อย่างดี แต่เนื่องจากมีเมล็ดพันธุ์อยู่ 2 ชนิด คือ พันธุ์ผสมเปิด และ พันธุ์ลูกผสม ทำให้ควบคุมผลผลิตเป็นไปได้ยาก
สำหรับพันธุ์ผสมเปิด ข้าวโพดจะมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ไม่เท่ากัน ต้องทำการเก็บเกี่ยวมากหว่าหลายครั้ง แต่โดยทั่วไปแล้วข้าวโพดจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออยู่ในช่วงระยะเวลา 8-12 วันหลังจากออกไหม วิธีการเก็บเกี่ยวก็ง่ายดายมาก โดยใช้มือหักแต่ละฝักให้ติดกับลำต้น หลังจากนั้นควรไถกลบต้นข้าวโพดเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดิน และเตรียมพร้อมในการปลูกครั้งถัดไป
อ่านบทความสาระน่ารู้เกษตรเพิ่มเติมได้ที่นี่ : สาระน่ารู้เกษตร